สถานการณ์ในไทยยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มในหลักพันคน รักษาอยู่แตะ 30,000 คน มีอาการหนักกว่าพันคน ในจำนวนนี้ปอดอักเสบจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเกือบ 400 คน
นับตั้งแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ พบเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 2 สัปดาห์
เมื่อนำข้อมูลครุภัณฑ์เครื่องช่วยหายใจจากกองบริหารการสาธารณสุข ปรับปรุงดังนี้
- ตัดเครื่องช่วยหายใจชนิดมือบีบ เพราะไม่เหมาะกับผู้ป่วย COVID-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายตลอดเวลา ซึ่งในฐานข้อมูลใส่ชื่อครุภัณฑ์เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน
- ตัดเครื่องช่วยหายทารกแรกเกิด แต่บันทึกว่าเป็นของผู้ใหญ่
พบว่าโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สังกัด สป.สธ.) ทั้งหมด 913 แห่ง มีเครื่องช่วยหายใจ 257 แห่ง รวม 2,182 เครื่องทั่วประเทศ
ทั้งนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งระบุข้อมูลเป็น 0 เครื่อง จึงคาดว่ามีเครื่องช่วยหายใจมากกว่านี้แต่ไม่มีการส่งรายงาน
(รพ.สังกัด สป.สธ.คือโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัด/อำเภอ วิทยาลัย ศูนย์แพทยาศาสตร์ ไม่รวมโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและสังกัดอื่นๆ)
โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีเพียงเครื่องเดียว ส่วนโรงพยาบาลที่มีเยอะที่สุดคือ รพ.ลำปาง 124 เครื่อง
อยู่ที่ไหนเท่าไร
จำแนกตามจังหวัด เขตสุขภาพ และโรงพยาบาล
Bird Mark 7 รุ่นยอดนิยม
เนื่องจากบางข้อมูลในฐานข้อมูลครุภัณฑ์ระบุชนิดเครื่องไม่ตรงกับรุ่นเครื่อง ทำให้ไม่สามารถแสดงแบบจำแนกประเภทและชนิดเครื่องในรายงานนี้ได้ ทีมข่าวไทยพีบีเอสจึงจำแนกเป็นยี่ห้อ-รุ่น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ได้มากที่สุด
เครื่องช่วยหายใจแต่ละรุ่นมีคุณลักษณะการใช้งานแตกต่างกัน โดยรุ่นที่มีเยอะที่สุดใน รพ.สังกัด สป.สธ.คือ Bird Mark 7 ใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า แม้ไฟดับก็ทำงานต่อได้ ราคาถูกและซ่อมง่าย แต่มีข้อจำกัดที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้ต้องใช้ฝีมือในการตั้งค่าต่างๆ เนื่องจากไม่มีตัววัดความถูกต้องและการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย การวัดค่าบางอย่างทำได้เป็นครั้งคราวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื้อจะกระจายได้ง่าย
Bird Ventilator ถูกคิดและนำมาใช้ครั้งแรกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนพัฒนาต้นแบบมาใช้ในโรงพยาบาลทั่วโลก
ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเผชิญศึกหนักกับ COVID-19 จึงมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สูง ก็เป็นรุ่นที่ถูกมองว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เกิดความร่วมมือระหว่างเอกชนและองค์กรต่างๆ ปล่อย open-source ที่ปรับปรุงแล้วเพื่อให้ผลิตเองได้ในพื้นที่
ย้อนกลับมาที่ไทย ช่วงการระบาดระลอกแรกเมื่อปีก่อนทำให้ประเด็นศักยภาพสาธารสุขถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อมีการสำรวจอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังใช้งานได้จริง พบว่า Bird Mark 7 จำนวน 200 เครื่องจาก 1,400 เครื่องทั่วประเทศ ไม่สามารถงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งภาคเอกชนได้จับมือกันตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องช่วยหายใจรุ่นดังกล่าว
Bird Mark 7 ใน รพ.สังกัด สป.สธ.ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี แต่ก็พบว่าหลายโรงพยาบาลยังใช้เครื่องที่มีอายุมากกว่า 20 ปีและทั้งโรงพยาบาลมีเพียงเครื่องเดียว