วันนี้ (12 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมพยาบาลวิชาชีพหอผู้ป่วยแยกโรค โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแบบเต็มรูปแบบอย่างรัดกุม ทั้งชุด PPE และ อุปกรณ์ชุดพัดลมกรองอนุภาคระดับสูง หรือ PAPR ก่อนเข้าดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการอยู่ในระดับ สีส้ม และสีแดง เมื่อสวมชุดป้องกันแล้ว พยาบาลชุดนี้จะไม่ออกจากหอผู้ป่วยจนกว่ากิจกรรมการพยาบาลนั้นๆ จะสำเร็จ โดยต้องดูแลผู้ป่วย และปฏิบัติภารกิจต่างๆ นาน 3 ถึง 4 ชั่วโมง พวกเธอจึงต้องเตรียมอาหาร ยา หรืออุปกรณ์ให้การพยาบาลให้พร้อม และเมื่อออกจากห้องก็จะต้องถอดชุดอุปกรณ์อย่างระมัดระวังก่อนนำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
พิมพินันท์ คำมาวัน พยาบาลวิชาชีพ ด้านระบาดวิทยา เป็นหนึ่งในทีมพยาบาลหอผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เธอบอกว่า เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา เธอมีหน้าที่สอบสวนโรค ไทม์ไลน์การเดินทาง เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากที่ไหน เป็นติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือไม่ ครอบครัว คนใกล้ชิด มีใครที่ป่วยเพิ่มหรือไม่
เธอยอมรับว่า การสอบสวนโรคในช่วงแรกมีความยาก เพราะผู้ป่วยไม่ยินยอม หลักการทำงานจึงต้องยืนยันกับคนไข้ว่า จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ยกเว้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรค และเพื่อการรักษาตัวของผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัวเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือก็จะเป็นต้องประสานกับทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อช่วยเหลือสืบค้น เพราะหลายๆ ครั้ง การให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคได้ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดการระบาดขยายวง
พิมพินันท์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่พยาบาลผู้หอผู้ป่วยโรคติดเชื้อต้องถือปฏิบัติ คือ การซื่อสัตย์กับตนเอง ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอไม่ว่ากับคนไข้คนไหน นอกจากนี้ ยังต้องรักษาระยะห่างกับเพื่อนร่วมงาน และครอบครัว
ไม่คลุกคลีกับคนในบ้าน จะต้องรักษาตัวเองให้ปลอดภัย เพราะว่าเราต้องดูคนไข้ไปอีกนาน ถ้าไม่มีทีม คนอื่นก็จะลำบากไปอีกนาน ที่บ้านต้องเข้าใจ ที่เราเคยแนะนำเรื่องการรักษาระยะห่าง การจัดห้องเฉพาะ เราก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน
ดรุณี ดลรัตนภัทร หัวหน้าหอผู้ป่วยแยกโรค 9/4 และ 9/5 รพ.นครพิงค์ เล่าให้ฟังว่า การระบาดระลอกแรกเมื่อปีก่อน ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน หอผู้ป่วยแห่งนี้รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าดูแล 17 คน
ขณะที่การระบาดในระลอกล่าสุด เริ่มรับผู้ป่วยวันที่ 5 เมษายน เพียง 3 วันแรกมีผู้ป่วย 20 คน และตลอดช่วง 1 เดือน ก็มีผู้ป่วยมากถึง 207 คน หรือคิดเป็น 1000 % เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรก ขณะที่คนไข้หนักก็มีจำนวนเพิ่มมาก จากเพียง 1-2 คน เพิ่มเป็นกว่า 100 คน
ภาระงานของหอผู้ป่วยจึงค่อนข้างหนัก ทำให้ต้องขอรับการสนับสนุนบุคลากรจากหน่วยงานภายใน รวมทั้งบุคลากรจากโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผลัดเปลี่ยนมาช่วยงาน ครั้งละ 1 สัปดาห์ ซึ่งช่วยทำให้ปริมาณงานสมดุล และยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ทำงานแก่พยาบาลให้มีความรู้กลับไปรับมือกับโรคระบาดให้กับต้นสังกัดได้เป็นอย่างดี
พยาบาลโรคติดต่อ ภารกิจคือ ดูแลคนไข้ในระยะแพร่กระจายเชื้อ หลักคิดคือ ทำอย่างไรให้คนไข้ปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อมาสู่เรา ไม่แพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น Mindset คือ เราต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้ให้ได้เหมือนกับญาติพี่น้องอะไรที่ดีที่สุดเราก็พร้อมที่จะให้แก่คนไข้
ล่าสุดสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเชียงใหม่ที่เริ่มลดลง หัวหน้าหอผู้ป่วยบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายวิกฤต แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ จำนวนผู้ป่วยหนักที่ยังสูง ช่วงแรกผู้ป่วยเดินเข้ารับการรักษาด้วยตัวเอง แต่ขณะนี้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาต่างต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ และภารกิจสำคัญของพยาบาล ที่ต้องดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 ให้มีอาการดีขึ้น และตัวเองต้องปลอดภัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดต่อไป
สิ่งที่พยาบาลให้ความสำคัญ คือ การช่วยทำให้ผู้ป่วยถอดเครื่องช่วยหายใจ และ มีอาการดีขึ้น จนถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาลชุมชน พยาบาลไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ตามลำพัง โดยไม่มีทีมสนับสนุน หรือ ผู้บริจาคเครื่องมือที่จำเป็น ซึ่งทุกๆ สิ่งล้วนทำให้สามารถฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้ในระยะเวลาอันสั้น