จังหวะที่ชาย 2 คนบนเรือประมงพื้นบ้านกำลังสลับตัวเพื่อทำหน้าที่ถือหางเสือบังคับเรือ คือ ช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลาจังหวัดชลบุรี กองตรวจการประมงทะเล กรมประมง บันทึกภาพไว้ได้ก่อนนำเรือเข้าเทียบเพื่อจับบุคคลต่างสัญชาติ
คนหนึ่งเป็นคนต่างชาติถูกแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือประมงทำการประมงในเขตการประมงไทย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 อีกคนเป็นคนไทย รับจ้างมานั่งบนเรือคอยสลับตัวทำหน้าที่แทนหวังตบตาเจ้าหน้าที่ ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันใช้เครื่องมืออวนปูที่มีความยาวอวนเกินกว่า 3,000 เมตร ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เจ้าหน้าที่ยึดของกลางเรือยนต์ประมงลำที่ใช้กระทำความผิด เครื่องมือทำการประมงอวนจมปู จำนวน 12 ชุด และสัตว์น้ำของกลางสภาพเน่าเสีย 21 กิโลกรัม ทำลายด้วยวิธีฝังกลบ
การดำเนินคดีในข้อหานี้ ต้องจับกุมขณะกระทำความผิด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการปฏิบัติงานปราบปรามทางทะเลของเจ้าหน้าที่กรมประมง
นายบรรเจิด จันทร์เทพ กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บอกว่า นี่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี และ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขมาโดยตลอด
เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ต้องแก้ให้จบด้วย คนพวกนี้ไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้ เขาก็ไปชวนพี่น้องจากประเทศเขา มาเมืองไทยดีกว่า ไม่เห็นจะโดนจับ ถ้าโดนจับนายทุนก็ไปเอาออก ปัญหาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วที่ต้องหมดไปคือประมงพื้นบ้านจริงๆ
ในฐานะประธานกลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุง ผู้ติดตามปัญหาบุคคลต่างด้าวออกเรือทำประมงโดยเป็นผู้บังคับเรือเอง และ ผลกระทบจากวิธีการทำประมงที่เอาเปรียบธรรมชาติ นายรังสรรค์ สมบูรณ์ รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี ให้ข้อมูลว่า บริเวณอ่าวบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี มีบุคคลต่างชาติอาศัยอยู่มาก ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากเป็นแรงงานประมง ก่อนผันตัวรับจ้างทำประมงเองโดยมีคนไทยเป็นนายทุนให้
เขาบอกว่า หลายคนสามารถซื้อเรือประมงเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินีจดทะเบียนเป็นเจ้าของเรือแลกกับค่าตอบแทนรายเดือน
“ใช้ช่องโหว่ทาง กม. จ้างคนไทยเป็นเจ้าของเรือแล้วก็จ้างคนไทยเป็นไต๋รับจ้าง ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้ชุมชน มีแต่กอบโกย อย่างประมงพื้นบ้านจริงๆ ที่เป็นคนไทย เวลาเขาหากิน เจอปูไข่นอกกระดอง หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กก็จะปล่อย แต่พวกนี้เอาหมด คือ หากินแบบล้างผลาญ”
เพราะอยู่ในคณะกรรมการเรียกร้องให้กรมเจ้าท่าจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 และ เฟส 4 ทำให้นายรังสรรค์ต้องทำหน้าที่กรรมการคัดกรองชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบางละมุงรวมถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลนาเกลือผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
จากการคัดกรอง ทำให้รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี พบว่า หลายลำ เจ้าของเรือเป็นบุคคลต่างด้าว แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินีถือครอง และนำชื่อมาขอรับเงินเยียวยา เขาจึงตัดรายชื่อเรือประมงพื้นบ้านลักษณะนอมินีออกไปมากกว่าร้อยลำ
มีนอมินีบางคนที่ซื้อเรือมาหลังปี 2560 มันก็ส่อเจตนาว่าซื้อเรือมาเพื่อขอรับเงินชดเชยเราก็ให้ไม่ได้ แต่ละชุมชนจะรู้ว่า ใครเป็นนอมินีให้ต่างด้าวแล้วมาขอรับเงินชดเชย ต่อให้กระบวนการทาง กม.ถูกต้องเราก็ให้ไม่ได้ เพราะการชดเชยมันเป็นเงินของรัฐ
กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กแสมสาร บ.ช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในกลุ่มประมงพื้นบ้านภาคตะวันออกที่ร่วมกันลงลายมือชื่อกว่า 200 คน เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม ห้ามมีคนต่างชาติอยู่บนเรือประมงพื้นบ้านขนาดต่ำกว่า 3 ตันกรอส เฉพาะเครื่องมือทำการประมงบางประเภท เพราะมองว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 ที่ห้ามบุคคลต่างด้าวทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือประมงทำการประมงในเขตการประมงไทยยังไม่เพียงพอ
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เรือประมงพื้นบ้านขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีจำนวน 56,000 ลำ ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นเรือขนาดต่ำกว่า 3 ตันกรอสประมาณ 35,000 ลำ
ส่วนปัญหาชาวต่างด้าวเป็นผู้ควบคุมเรือมีกฎหมายห้าม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 บังคับใช้อยู่แล้ว
การแก้ปัญหานี้จึงต้องมองทุกมิติ ในกลุ่มภาพรวมเรือประมงพื้นบ้านที่มีอยู่กว่า 50,000 ลำ เพื่อร่วมกันกำหนดกติกา
เราต้องทำประชาคมร่วมกันของพี่น้องชาวประมงกลุ่มใหญ่กว่า 5 หมื่นลำ อยู่ๆ ผมบอกว่าเรือหาง เรือประมงพื้นบ้านจะต้องมีคนๆ เดียว มันเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันเลยว่าวิถีชีวิตชาวประมงไม่มีทางจะมีคนแค่คนเดียว แต่ทุกอย่างก็อยู่ภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สิทธิการประมงฯ ที่ห้ามคนต่างด้าวเป็นผู้ควบคุมเรือ
ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า เมื่อกรมเจ้าท่า ออกใบอนุญาตให้ทำการประมงแล้วเสร็จ จะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ท้ายใบอนุญาตต่อไป