เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หัวใจของคนทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย มีการเต้นเป็นจังหวะต่อเนื่องตลอดเวลา เฉลี่ยปีละประมาณ 36-42 ล้านครั้งต่อปี
การที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นการสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกระทันหัน จากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือเต้นพริ้ว (Ventricular fibrillation หรือ VF) ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ
ผู้ป่วยจะเกิดอาการวูบหมดสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วยไม่หายใจและคลำชีพจรไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีการกู้ชีพทันที เพื่อให้มีออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ จนกว่าการทำงานของหัวใจจะกลับมาเต้นปกติ โดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ การปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสรอดชีวิตจะลดลง และหากสมองขาดเลือดนานเกินไปผู้ป่วยอาจจะฟื้น แต่มีความพิการทางสมองตามมา
เกิดขึ้นได้ทุกเวลาโดยไร้สัญญาณเตือน
ขณะที่ นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา มักจะพบได้บ่อยในขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญานเตือน
แตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญานเตือนนำมาก่อน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แต่อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บสถิติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันว่ามีความชุกเท่าใด แต่ในสหรัฐอเมริกาพบได้ 325,000 คนต่อปี ซึ่งภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และโรคอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนแรง ผู้ที่มีประวัติของการเสียชีวิตกระทันหันในครอบครัว ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ ความผิดปกติแต่กำเนิดของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ ซึ่งเป็นโรคหัวใจแฝงในบางครั้งไม่แสดงอาการ และดูภายนอกเหมือนปกติคนทั่วไป
ภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที โดยผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ ซึ่งหากมีการใช้อย่างถูกต้องภายใน 3 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 70% และผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นโดยไม่มีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ แต่หากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปโอกาสรอดชีวิตจะลดลง 10% ทุกๆ 1 นาที เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงนานเกินไป
การรักษาต้องรักษาที่สาเหตุ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ST elevation จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือการสวนหัวใจ เพื่อเปิดหลอดเลือด ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง 120 นาทีในการเปิดหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันบางคนที่มีข้อบ่งชี้ แพทย์อาจพิจารณาฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติไว้ในร่างกาย เพื่อกระตุกหัวใจเมื่อมีการทำงานผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้น และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ