ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คลัง" เผยปี 65 ตั้งงบฯ 1 แสนล้านชำระหนี้ ยึดหลัก "ครบถ้วน-ตรงเวลา"

เศรษฐกิจ
1 มิ.ย. 64
16:25
281
Logo Thai PBS
"คลัง" เผยปี 65 ตั้งงบฯ 1 แสนล้านชำระหนี้ ยึดหลัก "ครบถ้วน-ตรงเวลา"
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ก.คลัง เผยปี 65 ชำระหนี้สาธารณะ 1 แสนล้านบาทตามกรอบวินัยการคลัง ยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (1 มิ.ย.2564) นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 มีจำนวน 8.59 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.91 ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมากู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกู้เพื่อโครงการลงทุนของภาครัฐ ค้ำประกันเงินกู้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล หรือ มีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ในแต่ละปีสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรรและชำระอย่างครบถ้วน ไม่สามารถลด ตัดทอน หรือโยกงบฯดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือจากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

ในส่วนของการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้นั้นคณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐได้มีการประกาศเมื่อปี 2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการชำระหนี้ โดยต้องได้รับการจัดสรรไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้มีการศึกษาแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริหารหนี้ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องระดมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จากทุกแหล่งเงินเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่างบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้รับจัดสรรและอยู่ระหว่างรอการชำระหนี้ตามงวดจำนวน 35,303 ล้านบาท นั้น เป็นวงเงินที่สามารถนำไปให้ความช่วยเหลือได้มาก อีกทั้ง กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างหนี้แทนการชำระคืนหนี้ได้ รัฐบาลจึงขอให้กระทรวงการคลังโอนงบดังกล่าวเข้างบกลางฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการโอนงบชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศไว้เดิม

ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดสัดส่วนดังกล่าวใหม่ให้สอดคล้องข้อเท็จจริงภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเมื่อสภาวะการเงินการคลังของประเทศกลับมาเป็นปกติ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการปรับสัดส่วนกลับมาเท่าเดิมในโอกาสแรก

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐจึงได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระต้นเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับงบชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่คณะกรรมการกำหนดที่ร้อยละ 2.5-4.0 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงการรักษาวินัยในเรื่องการชำระหนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ ความมั่นคง และการมีเสถียรภาพทางการคลังเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ วันที่ 5 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก โดยในช่วงหนึ่งได้ระบุว่า หนี้สาธารณะของไทยขณะนี้ซึ่งที่อยู่ราว 50 % แต่ในอดีตในช่วงที่ไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มีตัวเลขอยู่ที่ 60กว่า% แต่เมื่อเศรษฐกิจมันโตขึ้นตัวหารโตขึ้นและมีการชำระหนี้ทำให้หนี้ลดกลับลงมาอยู่ที่ประมาณ 40 % แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว หนี้สะสมก็กลับมาที่ 50 % ไปจนใกล้ ๆ จะ 60 % ซึ่งตัวเลข 60 % เป็นตัวเลขการบริหารหนี้ที่ดีถ้าทำให้อยู่ในระดับ 60 % ของรายได้ประชาชาติ (GDP) เมื่อเทียบกับประเทศทั่วไป ขณะที่ญี่ปุ่นมีปัญหามานานหลายสิบปีตัวเลขเงินกู้ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 200% ของ GDP ขณะที่อเมริกาก็อยู่ที่ใกล้ๆ 100% ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

"ปีที่แล้วผมเป็นคนที่ออกไปพูด 2-3 ครั้ง ว่าถ้ากู้ไปถึง 60 % 70 % หรือ 80 % ผมยังยอม เพราะขณะนี้เป็นขณะที่ต้องกู้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ผมเรียกว่าเป็น Survival Economic คุณอย่าได้เอามาตรฐานที่แบบกำลังดี ๆอยู่ มาพูด ถ้าดีแล้วไปกู้แสดงว่าแย่แล้ว แสดงว่าข้างในคุณกำลังเน่า แต่ขณะนี้มันเน่ากันหมดซึ่งคุณกำลังรักษาไม่ให้มันลงไปข้างใน แต่ถ้าบอกว่าแบบนี้ไม่เอา อย่างนี้ผมว่าฉลาดไม่พอ "

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง