จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ที่มี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีน COVID-19 มีมติจ่ายค่าเสียหายนายสมชาย ม่วงวัง อายุ 50 ปี วงเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท ซึ่งตามขั้นตอนต้องได้รับเงินภายใน 5 วันหลังอนุกรรมการอนุมัติ
ทั้งนี้กรณีผู้ที่เสียชีวิต คือ นายสมชาย อายุ 50 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง รับวัคซีน COVID-19 ที่ จ.ปทุมธานี คณะอนุกรรมการพิจารณามีความเห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นอาการที่เกิดหลังจากการรับวัคซีน มีอาการแน่นหน้าอกตลอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 5 วัน และผู้ได้รับผลกระทบเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อ แม่ และเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว จึงลงมติเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท
วันนี้ (4 มิ.ย.2564) นายสถาพร ม่วงวัง อายุ 27 ปี ลูกชายนายสมชาย ที่เคยเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เพื่อยื่นขอรับการช่วยเหลือค่าเสียหาย เนื่องจากพ่อเสียชีวิต 5 วันหลังจากรับวัคซีน กล่าวว่า ทราบว่าทีมงาน รมว.สาธารณสุข ได้ส่งเรื่องให้กับ สปสช.แล้ว กระทั่งทราบจากข่าวว่า มีการจ่ายค่าชดเชยแล้วเป็นเงิน 400,000 บาท
ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานไหน ผลการชันสูตรจากโรงพยาบาลรามาฯ ก็ยังไม่ได้รับ คาดว่าประมาณวันที่ 5-6 มิ.ย.นี้ หลังจากมีข่าวได้ตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ให้ไว้กับ สปสช.ก็ยังไม่มีเงินเข้า หลังจากนี้จะไปตามเรื่องที่ สปสช.อีกครั้งว่าอนุมัติจ่ายเงินแล้วหรือไม่
เบื้องต้นนายสถาพร ได้โชว์หลักฐานบัญชีธนาคาร ซึ่งยังไม่มีการรับเงินจำนวน 400,000 บาท และยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานใด
นายสถาพร กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าพ่อเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แน่นอน หากเรื่องยังไม่คืบหน้า คาดว่าจะไปยื่นเรื่องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะมั่นใจว่าพ่อแข็งแรงและยังสามารถอยู่กับครอบครัวได้อีกนานหลายปี อีกทั้งกรณีการเสียชีวิตของพ่อที่เป็นเสาหลัก ทำให้ครอบครัวยากลำบาก
สปสช.เขต 4 จ่ายค่าเสียหาย 8 คน 469,500 บาท
ด้าน นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับความเสียหายได้รับผลกระทบหรือเสียชีวิต สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย
เมื่ออนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว ภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้ว พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน COVID-19 จะไม่เรียกเงินคืน ทั้งนี้เมื่อคณะอนุกรรมการได้รับเรื่องแล้วนั้น จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน หลังคณะอนุกรรมการมีมติอนุมัติ
สำหรับพื้นที่เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 8 คน รวมเป็นเงิน 469,500 บาท เป็นชาย 2 คน หญิง 6 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 4 คน คิดเป็นร้อยละ 50 เจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 3 คน คิดเป็นร้อยละ 37.5 และเสียชีวิต 1 คน คิดเป็นร้อยละ 12.5 อายุระหว่าง 23-50 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี และอายุมากที่สุด 50 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง สปสช.เตรียมงบฯ 100 ล้านเยียวยาคนมีอาการแพ้วัคซีนโควิด-19