วันนี้ (8 มิ.ย.2564) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 7 มิ.ย. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,904 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,974 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,153 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,457 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศ รวม 5.6 ล้านไร่ คิดเป็น 33.6% ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.7 ล้านไร่ คิดเป็น 47.1% ของแผน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนให้ความช่วยเหลือพื้นที่ข้าวนาปี ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง และประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณน้อย คาดว่าจะพอใช้ถึงเดือน ก.ค. 2564 นี้ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ
จึงจำเป็นต้องทำการจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว เพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอ
ขณะนี้น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยายังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่สามารถไหลเข้าคลองในระบบชลประทานได้ จึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งไปผลิตน้ำประปาและเลี้ยงพื้นที่เกษตร