วันนี้ (8 มิ.ย.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวพบคลัสเตอร์คนงานโรงงานน้ำแข็งติด COVID-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และ จ.ชลบุรี นั้น
อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ในการเลือกซื้อน้ำแข็งเพื่อบริโภค กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำแข็งทุกแห่ง ต้องยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค COVID-19 ด้วยการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานก่อนมาทำงานในระดับเข้มข้น โดยเจ้าของโรงงานประเมินผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus
ส่วนคนงานให้ประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้ามาทำงานทุกวัน จะลดโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 ได้ รวมทั้งลดความแออัดหรือความหนาแน่นบริเวณที่ปฏิบัติงาน
และยังคงเน้นย้ำสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การล้างและฆ่าเชื้อมือ และเปลี่ยนรองเท้าที่จะปฏิบัติงาน การไม่วางน้ำแข็งกับพื้น การล้างและฆ่าเชื้อระบบผลิตน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ในส่วนของที่พักคนงานให้หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม ควบคุมความสะอาดของที่พักให้ได้มาตรฐาน หากมีรถรับ-ส่งต้องจำกัดจำนวนไม่ให้แออัด ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคนและทุกครั้งที่ใช้บริการ หมั่นทำความสะอาดและ ฆ่าเชื้อภายในรถเป็นประจำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับผู้บริโภคควรเลี่ยงการซื้อน้ำแข็งโม่ หรือบดมาบริโภค เนื่องจากในกระบวนการผลิตตั้งแต่การถอดซองออกมาเป็นก้อนน้ำแข็ง การตัดเป็นก้อนเล็กๆ จนถึงการโม่ บด บรรจุใส่ถุงหรือกระสอบเพื่อส่งขาย มีโอกาสสัมผัสกับคนงาน สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำแข็ง
ควรเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดบรรจุถุงปิดสนิท มีเลขสารบบอาหาร หรือ อย.ชัดเจน จะปลอดภัยกว่า เพราะมีกระบวนการทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งภายในเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดเป็นระบบปิด ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ซึ่งจะไม่มีคนงานเข้าไปเกี่ยวข้องจนกว่าจะบรรจุเสร็จ
ขณะที่ร้านขนมหวาน ร้านน้ำแข็งใส หรือร้านเครื่องดื่มประเภทที่ต้องชงใส่น้ำแข็ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค COVID-19 ที่มาจากโรงงานน้ำแข็ง ควรงดใช้น้ำแข็งชนิดโม่หรือบด ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำแข็งหลอดแทน ซึ่งปัจจุบันมีหลายขนาดให้เลือกใช้ ทั้งหลอดเล็กหรือแบบเกล็ด
ส่วนร้านอาหาร แผงลอย รถเร่ ที่นำน้ำแข็งโม่หรือบด มาใช้แช่อาหารสด เช่น เนื้อหมู ไก่ กุ้ง ปลา ควรนำมาบรรจุในถุงพลาสติกก่อน แล้วแช่โดยใช้น้ำแข็งกลบให้ทั่ว ไม่ควรให้น้ำแข็งสัมผัสกับอาหารโดยตรง
นอกจากจะลดการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ ได้แล้ว ยังรักษาคุณภาพหรือสภาพของอาหารให้คงเดิมได้ดีกว่าด้วย
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย ในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง
ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ 2563 เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร (จี.เอ็ม.พี : GMP: Good Manufacturing Practice) เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อน