ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์ "เดลตา" คาดระบาดในไทย 2-3 เดือนนี้

สังคม
16 มิ.ย. 64
15:07
6,151
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์ "เดลตา" คาดระบาดในไทย 2-3 เดือนนี้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์​เฝ้าระวัง COVID-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ระบาดในไทยภายใน​ 2-3​ เดือนนี้​ หลังพบผู้ป่วย 10 คนรักษาอยู่ใน รพ.ที่กรุงเทพฯ โดยอัตราการระบาดของสายพันธุ์นี้​เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 40​%

วันนี้ (16 มิ.ย.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า​ จากการเฝ้าระวังและติดตามสายพันธุ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 จำนวน 5,055 คน โดยพบว่าเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 89.6 ส่วนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 496 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 สูงสุดอยู่ในพื้นที่ กทม.​ 404 คน สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 3 คนใน จ.นราธิวาส และกระจายแค่ 3 อำเภอเท่านั้น

ล่าสุด จากการตรวจหาสายพันธุ์ในผู้ป่วย พบผู้ป่วย 10 คนติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลในกลางกรุงเทพฯ​ 3-4 แห่ง คาดว่า​ภายในไม่เกิน 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตาจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา เนื่องจากการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าถึงร้อยละ 40

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า​ เตรียมศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนว่ามีผลต่อสายพันธุ์หรือไม่ โดยใช้อาสาสมัคร 200 คน และใช้วิธีเก็บเลือดแล้วมาเพาะกับเชื้อไวรัส เพื่อดูภูมิคุ้มกัน

แต่ส่วนของสายพันธุ์ดังเดิม (จีน) เมื่อร่างกายรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าเกิดภูมิคุ้มกันได้ 100% แต่เมื่อตรวจสอบกับไวรัสสายพันธุ์อัลฟา พบว่ามีภูมิขึ้น 50-60% แต่ในส่วนของสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์เบตา ยังอยู่ระหว่างการทดสอบดูภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการติดตามระดับภูมิคุ้มในวัคซีนแอสตราเซเนกา เมื่อรับไปแล้ว 1 เข็ม

ทั้งนี้​ การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันมีผลเกี่ยวข้องกับการย่นระยะเวลาการรับวัคซีนในเข็มถัดไป เบื้องต้นในส่วนของวัคซีนแอสตราเซเนกา กำหนดระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และ เข็ม 2 เป็นเวลา 10-12 สัปดาห์ พร้อมย้ำว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินตรวจภูมิคุ้มกันเอง ไม่ว่าจะผ่านการตรวจด้วย rapid test หรือเสียเงินเจาะเลือด ซึ่งการตรวจสอบนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะรับเป็นผู้ศึกษาเอง

ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ไม่จำเป็นต้องทำทุกคน โดยจะทำในคนที่มีอาการรุนแรงที่เป็นเคสใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสี่ยงเสียชีวิต, กลุ่มที่พบการระบาดจำนวนมากและมีความเชื่อมโยงกัน, พื้นที่ที่ไม่มีการระบาด แต่กลับพบเคสคนป่วย รวมถึงพื้นที่ชายขอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.เผยติดเชื้อในโรงงานกระจาย 27 จังหวัด

ไทยติดโควิดรายใหม่ 2,331 หายป่วยเพิ่ม 4,947 เสียชีวิต 40 คน

นนทบุรีติดโควิดเพิ่ม 182 คน พบในไซต์ก่อสร้าง 110 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง