ข้อกังวลต่อปัญหาความมั่นคงทางทะเลทั้งคาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้ เป็นประเด็นสำคัญ ที่ถูกนำมาหารือในเวทีการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนกับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8 หรือ ADMM-Plus
จุดยืนของ รมว.กลาโหมอาเซียนและคู่เจรจา เช่น สหรัฐฯ ,จีน ,รัสเซีย และอินเดีย รวม 18 ประเทศ ระบุว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ และเคารพกันและกัน ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ไม่ใช้กำลังทหารแก้ปัญหา แต่ต้องร่วมกันหาทางออกด้วยสันติวิธี โดยใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากนิวเคลียร์และให้ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง และเสรีในการคมนาคม
สำหรับปัญหาทางการเมืองในเมียนมา ที่ประชุมได้เรียกร้องไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง และร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทน รมว.กลาโหม แสดงวิสัยทัศน์ ถึงความสำคัญรับมือสถานการณ์ COVID-19 ร่วมกัน ผ่านการจัดตั้งกองทุนอาเซียนและแผนการฟื้นฟูอาเซียน
ขับเคลื่อนความร่วมมือของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพและรังสี พร้อมทั้งให้ความสำคัญและร่วมรับมือภัยคุกคามไซเบอร์จากกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและกลุ่มก่อการร้ายที่มีการใช้ไซเบอร์มากขึ้นในช่วงสถานการณ์ COVID-19
ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรอง "ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน" ว่าด้วยการส่งเสริมและการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพและความมั่นคงของอาเซียน โดยสาระสำคัญคือการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การเตรียมความพร้อมและรับมือภัยคุกคามในภูมิภาค
การส่งเสริมความร่วมมือในบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งบทบาทของความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียน เพื่อร่วมเสริมความมั่นคงของภูมิภาคให้มีความยั่งยืนร่วมกัน