วันนี้ (4 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ระลอก 3 จ.สมุทรสาคร โรงพยาบาลรัฐมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ รพ.สมุทรสาคร, รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.บ้านแพ้ว
สำหรับการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 พบว่าภาพรวมของผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร ขณะนี้ มีจำนวนกว่า 8,800 คน
รพ.บ้านแพ้ว เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลัก ที่เผชิญวิกฤตเตียงเต็ม จนต้องสร้าง รพ.สนาม ไว้ภายในโรงพยาบาลเองอีก 80 เตียง เพื่อช่วยเร่งนำผู้ติดเชื้อที่มีอาการและระบบสาธารณสุขจากภายในจังหวัดส่งตัวมาที่นี่ด้วย
ทำให้ขณะนี้กระทบทั้งด้านบุคลากร และทรัพยากร แต่ความทุ่มเทของบุคลากรทุกคน แม้อ่อนล้า แต่ยังคงเดินต่อไป
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผู้นำทัพฝ่ามรสุมครั้งนี้
ถาม : สถานการณ์ รพ.บ้านแพ้ว ขณะนี้หนักหน่วงแค่ไหน
นพ.พรเทพ : COVID-19 ระลอก 3 รพ.บ้านแพ้ว เจอสถานการณ์หนักมากทั้งมิติของบุคลากรและมิติผู้ป่วย โดยกลุ่มผู้ป่วยจากเดิมระลอก 2 เป็นกลุ่มคนทำงานในโรงงาน หรือผู้สูงวัย อายุมาก
แต่ระลอกนี้ เจอเด็กเยอะมาก เพราะลงไปถึงครอบครัว และเจอผู้ป่วยเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่เข้ามาอยู่ รพ.บ้านแพ้ว หรือแม้กระทั่งเด็กวัย 1-3 ขวบ แสดงว่าการระบาดคราวนี้อยู่ในชุมชนบ้านแพ้ว และทำให้ประชาชนในเขตเหล่านี้ กลับเข้ามาใน รพ.
ประเด็นที่ 2 มีกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อ.บ้านแพ้ว เดินทางเข้ามารับบริการที่บ้านแพ้ว และส่วนหนึ่งล้นมาจากกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อมาตรวจและรับการรักษาที่ รพ.บ้านแพ้ว และทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเตียง ขาดแคลนทรัพยากร
ถาม : จำนวนเตียงโควิดจากระลอก 2 มาระลอก 3 ปรับเพิ่มแค่ไหน
นพ.พรเทพ : จริงๆ เรารองรับเตียง COVID-19 ไว้ 60 กว่าเตียง แต่วันนี้ ให้บริการเพิ่มมาเป็น 100 เตียงแล้ว ล่าสุด กำลังขยายเตียงเพิ่มอีก 80 เตียง
ในจำนวนนี้ เป็นเตียงกึ่งไอซียู 12 เตียง เพราะเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว, สีเหลือง เยอะขึ้น แน่นอนว่าเดี๋ยวผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ก็เยอะตามมา
ดังนั้น ไอซียูเดิมที่มีอยู่ ไม่น่าจะเพียงพอ ซึ่งการเพิ่มครั้งนี้ จะทำให้ รพ.มีเตียง COVID-19 รองรับให้บริการได้เกือบ 200 เตียง
ถาม : รพ.บ้านแพ้ว มีเตียง COVID-19 และไอซียู COVID-19 เท่าไหร่
นพ.พรเทพ : ขณะนี้ มีเตียงไอซียู COVID-19 รองรับได้ 6 เตียง และถ้าได้เตียงกึ่งไอซียู COVID-19 เพิ่มมาอีก 12 เตียง จะช่วยทำให้เพิ่มเป็น 18 เตียง ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ช้าสุดปลายสัปดาห์หน้า
ถาม : เพิ่มเตียงและทรัพยากร แต่บุคลากร ยังไหวกันอยู่ไหม เพราะ รพ.บ้านแพ้ว ก็ไปช่วยสนับสนุนหลายภารกิจ COVID-19 ของ จ.สมุทรสาคร ด้วย
นพ.พรเทพ : สำคัญมากครับ เพราะบุคลากร รพ.บ้านแพ้ว ไม่ได้อยู่แต่ รพ.เรา แต่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร
ให้ช่วยดูแลศูนย์ รพ.สนาม (วิทวอเตอร์ จ.สมุทรสาคร) มาตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 จนถึงขณะนี้ ซึ่งมีจำนวน 400 เตียง
โดยสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อน ยังมีคนไข้ 70-80 คน แต่ภายใน 1 สัปดาห์มานี้ เตียงทั้ง 400 เตียง เต็มแล้ว เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลมาก เพราะขนาดเตียง COVID-19 รพ.เต็ม ก็ต้องนำส่งไป รพ.สนาม
แต่ปัญหา คือ ตอนนี้ รพ.สนาม เต็มแล้วเช่นกัน ซึ่ง รพ.บ้านแพ้ว ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ให้ขยาย รพ.สนาม อีก 1 แห่งอีก 450 เตียง ต้องใช้บุคลากรทั้งสิ้น
ศึกหนักของโรงพยาบาลตอนนี้ คือต้องดูแลในโรงพยาบาลที่มีศึกหนักมาก และยังต้องกระจายลงไปยัง รพ.สนาม อีก ยอมรับว่าหนักมาก
ถาม : บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ COVID-19 จริงๆ มีกันเท่าไหร่
นพ.พรเทพ : เรียกว่าทั้งโรงพยาบาลก็ว่าได้ เรามีกัน 5 ภารกิจหลักในจำนวนนี้ เป็นภารกิจ COVID-19 รวม 4 ด้าน ได้แก่ 1.การดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาลบ้านแพ้วเอง ตั้งแต่กลุ่มไอซียู ไปจนถึงหอผู้ป่วยรวม ห้องแล็บ แม่บ้านที่เกี่ยวข้อง
2. ภารกิจ รพ.สนาม ของ จ.สมุทรสาคร ที่ รพ.บ้านแพ้ว ต้องส่งทีมพยาบาลเต็มรูปแบบ ไปอยู่เวร 24 ชั่วโมง
3. ทีมฉีดวัคซีนและดูแลผู้รับการฉีด ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2564 แล้ว จนถึงปัจจุบัน เข็ม 1 เข็ม 2 วนไปไม่หยุดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
4. ภารกิจสอบสวนโรค เพราะเมื่อใดก็ตามมีผู้ติดเชื้อ 1 คน แต่ต้องสอบสวนทั้งบ้านว่ามีใครบ้างที่ติด ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อที่รับเข้าอยู่ รพ.บ้านแพ้ว เป็นร้อยคน แน่นอนว่าสอบสวนการหนักมาก ที่ต้องกระจายกันไปตามเคสต่างๆ
และ 5. การดูแลผู้ป่วยทั่วไป-ผู้ป่วยวิกฤต ที่ไม่ใช่ COVID-19 ซึ่ง รพ.บ้านแพ้ว ไม่เคยปิดโซนไอซียูโรคหัวใจเลย เพราะเรารู้ว่าโรคหัวใจ เป็นโรคสำคัญ เราไม่เคยปิดไอซียูผู้ป่วยหนักเลย
เคสที่ต้องผ่าตัด เราก็ผ่าตัดอยู่โดยที่เราไม่ต้องหยุดเขา ผู้ป่วยคลอด ก็รับคลอดปกติ เพราะเคสเหล่านี้หยุดไม่ได้
ซึ่งบุคลากรบ้านแพ้วที่มีกว่า 1,000 คน แทบจะทุ่มมางานพวกนี้ 80-90% จะหนักพอสมควร ในกลุ่มบุคลากรกว่า 1,000 คน มีหมอ 130 คน มีพยาบาลเกือบ 300 คน ถือว่าเป็นภาระกิจที่หนักกันมากจริงๆ เพราะต่อให้พวกเขามีใจสู้ขนาดไหน
แต่จริงๆ ก็คือ กลุ่มคนธรรมดาคนหนึ่ง เขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร มีโอกาสที่จะอ่อนล้าได้เสมอ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราก็ต้องพยายามถนอมบุคลากรเหล่านี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราระมัดระวังกันมาก
และตอนนี้เราเริ่มมีบุคลากรบางคนที่เริ่มติดเชื้อ และมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 2 คน ต้องถูกกักตัว 27 คน พอขาดไป 27 คน บุคลากรที่เหลือต้องวน และทำงานหนักมากและเกิดความเหนื่อยล้ามากขึ้น และเกิดความเหนื่อยล้ากันมากขึ้น
ยังไม่รู้ว่าจะต่อไปจะต้องติดหรือกักตัวกันมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้คือความยากลำบากมากในดูแลผู้ป่วย COVID-19 แต่เราก็จะไม่ทิ้งผู้ป่วยคนใดให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานของ รพ.บ้านแพ้ว จริงๆ
ถาม : ภารกิจที่บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานลากกันมาตั้งแต่ระบาดระลอก 2 ใน จ.สมุทรสาคร (ธ.ค.2563) ความล้าจนถึงวันนี้ (เดือน ก.ค.2564) เป็นอย่างไรกันบ้าง
นพ.พรเทพ : ต้องบอกว่าเขาทุ่มเทกันมากๆ จำได้ว่าครั้งแรกที่เราเปิดหวอด COVID-19 กันใหม่ๆ บุคลากรบางคนถึงกับร้องไห้เลย จนกระทั่งวันหนึ่งเราไปคุยให้เขาจนกลับมาสู้กัน
จนเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้ วันที่ทำโรงพยาบาลระยะแรกๆ มีบางคนถามว่า ทำไมต้องไป ก็ต้องอธิบายกันว่า เพราะเราคือจังหวัดเดียวกัน และคนที่เจ็บป่วย คือประชาชนที่คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับเรา และถ้าเราไม่ช่วย วันหนึ่งการระบาดก็จะลามมาที่เรา
บุคลากรก็มีใจสู้ ก็ไปช่วยกันดูแลระบบและผู้ป่วยที่ รพ.สนาม ของ จ.สมุทรสาคร และช่วงหนึ่งก็ยังช่วยดูแลถึง 3 รพ.สนาม รวม ผู้ป่วย 800-900 คน และสามารถช่วยภารกิจได้
แต่แน่นอนว่า ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานมาก บุคลากรที่ใจสู้กัน ก็ต้องอ่อนล้า เพลียกันเป็นธรรมดา และยิ่งมาเจอสถานการณ์ตอนนี้กันอีกระลอกที่รุนแรงมาก เราก็ต้องระดมคนกลับเข้ามาช่วยกันอีกครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่า วันนี้ เขาก็มีใจสู้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทนได้อีกนานแค่ไหน ในฐานะผู้บริหาร รพ.บ้านแพ้ว ก็พยายามจะระมัดระวังไม่ให้เขาเหนื่อยล้าจนเกินไป
เพราะถ้าล้าไปคนหนึ่ง คนไข้จำนวนมาก ก็จะลำบากกันได้ และเป็นสิ่งที่เราอยากขอกำลังใจเล็กๆ ให้เข้าใจพวกเราด้วย
ถาม : อาการผู้ป่วยกลุ่มวิกฤต หรือสีแดง มีนัยสำคัญอย่างไรบ้างกับการระบาดระลอกนี้
นพ.พรเทพ : การระบาดระลอกนี้ ติดเชื้อเร็วมาก เกิดการกระจายเชื้อเร็วมาก และเชื้อแพร่ไปในกลุ่มเสี่ยงเยอะขึ้น เช่น กลุ่มอายุน้อย และกลุ่มผู้สูงวัย ที่เจอมากขึ้นเรื่อยๆ
รวมถึงปัญหาการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กยังไม่มี และกลุ่มเด็กจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเราเจอคนท้องหลายคนที่ติดเชื้อ COVID-19 ไม่น่าเชื่อ แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
สำหรับสถานการณ์กลุ่มผู้ป่วยสีแดง คือการครองเตียงนานขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเตียงไอซียู ผู้ป่วยจะใช้เตียงเฉลี่ย 3-4 คนต่อวัน
นานสุด อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ คาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นได้ แต่จะพยายามดูแลให้เต็มที่เช่นกัน
ถาม : พบผู้ป่วยกลุ่มไหนมากกว่ากันระหว่างกลุ่มเขียวไปเหลือง หรือเหลืองไปแดง
นพ.พรเทพ : หลักการ คือเขียวไปเหลือง จะพบไวมากกว่า ตอนนี้เราใช้ รพ.สนาม เป็นตัวช่วย เราเอ็กซเรย์ปอดถี่มาก ใช้เครื่องวัดออกซิเจนบ่อยมาก และเราสตาร์ตยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น เพื่อป้องกันผู้ป่วยกลุ่มเขียวไปเหลือง
หรือเหลืองไปแดงไปได้ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อที่จะกลายเป็นแดงให้ลดลงให้ได้ และยืนยันว่าผู้ป่วยต้องมีที่นอน ไม่ว่าจะเป็น รพ.บ้านแพ้ว หรือ รพ.สนาม
ถาม : สถานการณ์ จ.สมุทรสาคร อยู่ในห้วงเวลาวิกฤต มีประเด็นที่ต้องการสื่อสารเพิ่มเติม
นพ.พรเทพ : ด้วยข้อจำกัดที่มี สุดท้ายเราอาจรับมือกับสถานการณ์นี่ได้ลำบากอย่างยิ่ง บุคลากรก็จะอ่อนล้ากันเต็มที่ วิธีเดียวที่จะสามารถทำให้เรารับมือได้ ไม่หนักเกินไป คือการลดจำนวนเคสลงให้ได้
วิธีการลดจำนวนเคสลงที่ดีที่สุด คือประชาชนต้องตระหนัก อย่าการ์ดตก ใส่หน้ากากกันทุกคน เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่เป็นการรวมกลุ่มบุคคล
โดยเฉพาะการเปิดปาก งานฉลองเลี้ยงวันเกิด ดื่มสุรา รวมตัวกัน อันนั้นเป็นจุดแพร่กันอย่างมโหฬารแน่นอน หากเราช่วยกันทำกันได้ ก็จะช่วยกันลดจำนวนเคสลง
สถานการณ์ก็จะดีขึ้น ระบบสาธารณสุขก็จะไม่ล่มสลาย ฝากเรื่องนี้ด้วย เผื่อเราจะช่วยกันได้คนละไม้คนละมือ
ถาม : สถานการณ์ตอนนี้ หนักใจอะไรที่สุด
นพ.พรเทพ : หนักใจที่สุด คือไม่แน่ใจว่า เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ขยายไปมากๆ เราจะมีบุคลากรเพียงพออยู่ไหม ที่จะทำให้คนไข้ของเรา ประชาชนของเรา ไม่ต้องสูญเสียใครไป เป็นสถานการณ์ที่หนักใจ เพราะเราไม่อยากเห็นใครต้องสูญเสียใคร
เราอยากรักษาทุกคนให้หายและกลับบ้านให้ดีที่สุด จึงจำเป็นมากๆ ที่จะต้องช่วยกันไม่ให้มีเคสที่เยอะเกินไป รพ.บ้านแพ้ว ขยายเตียงอยู่ก็จะสู้ให้เต็มร้อย
ถาม : การขยายเตียง ขยายโซนรองรับผู้ป่วย COVID-19 มีขาดเหลือวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อะไรที่ต้องการเพิ่มเติม
นพ.พรเทพ : มีขาดแคลนอุปกรณ์บางประการเพื่อให้เรารองรับผู้ป่วยเหล่านี้ได้ ถ้าท่านใดสนใจช่วยสนับสนุน ทางเรายินดี เพื่อสู้กับ COVID-19 ติดต่อกับ รพ.บ้านแพ้ว ได้ เช่นอุปกรณ์ดังนี้ 1. เตียง ICU จำนวน 12 เตียง
2. เซตจอมอร์นิเตอร์ สำหรับห้องไอซียู 7-8 เครื่อง 3. เครื่องช่วยหายใจ เพื่อประคับประคองกับผู้ป่วย เฉพาะที่ใช้กับโรงพยาบาล
4. เครื่องเอ็กซเรย์ปอดแบบเคลื่อนที่ 2 เครื่อง ที่ใช้กับ รพ.สนาม ได้ด้วย และเคลื่อนที่ไปจุดต่างๆ ได้ง่าย ค้นหาผู้ป่วยได้ไวขึ้น และ 5.หมอน ผ้าห่ม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สำหรับผู้ติดเชื้อจำนวนมาก