ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.ยกระดับ 4 มาตรการคุม COVID-19 ในพื้นที่ กทม.

สังคม
5 ก.ค. 64
14:05
300
Logo Thai PBS
สธ.ยกระดับ 4 มาตรการคุม COVID-19 ในพื้นที่ กทม.
สธ.ยกระดับ 4 มาตรการคุม COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เน้นตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค หวังลดยอดติดเชื้อภายใน 2-3 สัปดาห์

วันนี้ (5 ก.ค.2564) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งมีการติดเชื้อมากขึ้น โดย สธ.เข้ามาร่วมดูแลการควบคุมโรคและการบริหารจัดการเตียง และฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

ทั้งนี้ สั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดที่พบการติดเชื้อไม่รุนแรงมาช่วยดูแลใน รพ.บุษราคัม รองรับ 3,700 เตียง และมีการส่งต่อผู้ป่วยอาการหนักไปยังโรงเรียนแพทย์ และ รพ.ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ร่วมกับภาคเอกชน รพ.มงกุฎวัฒนะ เปิดไอซียู 24 เตียง และไอซียูสนาม มทบ. 11 จำนวน 58 เตียง รวมทั้งส่งบุคลากรไปยัง รพ.วชิรพยาบาล รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดไอซียูอีก 58 เตียง 

ทั้งนี้ สธ.วางมาตรการใหม่ 4 มาตรการ คือ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2.ปรับระบบการรักษาและการเชื่อมต่อของผู้ป่วย 3.การฉีดวัคซีน และ 4.มาตรการทางสังคม โดยจะใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทันที เพื่อให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนมาตรการวัคซีน สธ.ได้ปรับนโยบายในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จัดบูสเตอร์โดสให้บุคลากรดังกล่าวในโรงพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทุกวันโดยตรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันไวรัส โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อื่น ซึ่งต้องจะให้ทันเวลาและเป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานได้เต็มที่ โดยจะจัดแนวทางบูสเตอร์วัคซีนต่อไป

ขณะที่การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค จะจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าวไม่น้อยกว่า 80% ภายในเดือนนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต

สำหรับการฉีดวัคซีนจะเปลี่ยนวิธีการจากปูพรม เป็นเน้นในพื้นที่การแพร่ระบาดของโรค เพื่อควบคุมโรคได้ดีขึ้น

ปรับตรวจเชิงรุก ให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยเปราะบาง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในมาตรการการควบคุมโรค ในส่วนต่างจังหวัดยังใช้มาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไม่มากนัก ส่วนการค้นหาผู้ป่วยและค้นหาเชิงรุกให้ใช้มาตรการเดิม แต่ดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้น

ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาด COVID-19 ในไทย โดยปรับมาตรการในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ให้สอดคล้องสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยมาตรการค้นหา รักษา แยกกัก และควบคุมโรค จะเน้นปกป้องผู้สูงอายุที่เสี่ยงป่วยรุนแรง โดยจัดทำ Fast Track (ทางด่วน) สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง ที่มีอาการสงสัยให้ได้รับการตรวจหาเชื้อเป็นลำดับแรก ๆ และได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต

ส่วนกลุ่มวัยหนุ่มสาวหรือผู้ที่ไม่มีอาการจะใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ ควบคู่ เช่น หน่วยตรวจเชิงรุก รถพระราชทาน คลินิกชุมชน

นอกจากนี้ยังได้ปรับการสอบสวนและควบคุมโรค เน้นครอบคลุมเหตุการณ์ เช่น คลัสเตอร์ จุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา ส่วนการสอบสวนเฉพาะราย ให้จุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการแทน และการควบคุมเชิงรุก เน้นกลุ่มซูเปอร์สเปรดเดอร์ และควบคุมพื้นที่ด้วยการบับเบิลแอนด์ซีล ทั้งแรงงานข้ามชาติ แคมป์ก่อสร้าง โรงงาน สถานประกอบการ ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัด เรือนจำ แหล่งรวมตัวใหญ่ ๆ และเนอสซิ่งแคร์ผู้สูงอายุ

ขอหน่วยงานราชรัฐ WFH 70%

นพ.โอภาส กล่าวว่า การยกระดับมาตรการทางสังคมและองค์กร โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยการบังคับใช้หรือใช้มาตรการขอความร่วมมือ Work from Home ในสถานที่ หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันและควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ เป็นร้อยละ 70

รวมทั้งส่งเสริมสื่อสารให้ประชาชน เพิ่มความเข้มข้นมาตรการบุคคล และประยุกต์หลักการบับเบิลแอนด์ซีลมาใช้กับตนเองและครอบครัว เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่พบในที่บ้านและที่ทำงาน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง