วันนี้ (7 ก.ค.2564) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินมลพิษจากสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ โดย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ESP บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งมีสารเคมีที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ Styrene Pentane และ Dibenzoyl peroxide โดยตรวจวัดก๊าซพิษที่อาจพบ ได้แก่ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สไตรีน (Styrene) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ (HCHO) และมีผลการตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2564
วันที่ 5 ก.ค.ผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบในระยะ 500 ม. - 9 กม. เมื่อเวลา 08.30-16.40 น.พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน (ยังไม่มีผลตรวจ Styrene) เนื่องจากเป็นขณะที่เพลิงไหม้ทำให้เขม่าควันไอระเหยลอยขึ้นสูงและลอยไปไกลกว่า 10 กม.
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายจากการระเบิดของถังสารเคมีในพื้นที่จึงได้มีการตัดสินใจให้มีการอพยพประชาชนในรัศมี 5 กม.โดยรอบ
วันที่ 6 ก.ค.ผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในบริเวณที่เกิดเหตุพบว่า มีฟอร์มาลดีไฮด์ (HCHO) ในระดับ 1-2.19 ppm ซึ่งสูงกว่าค่าความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ (ค่าเพดานสูงสุด)
จึงเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ที่ยังคงปฏิบัติงานบริเวณดังกล่าวต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันไอระเหยสารเคมีขณะปฏิบัติงานและพบสไตรีนในระดับ 1- 8.4 ppm ซึ่งไม่เกินค่าความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่
ส่วนในบริเวณชุมชนด้านท้ายลมในรัศมี 1-5 กม. ตรวจพบสารสไตรีนในระดับ 0 - 0.8 ppm และฟอร์มาลดีไฮด์ ในระดับ 0-0.01 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน (ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุยังมีการปะทุของเพลิงไหม้เป็นระยะจึงยังต้องมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องต่อไป
วันที่ 7 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 - 10.00 น. พบว่า 1.บริเวณภายในโรงงานตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีนและฟอร์มาลดีไฮด์ 2.บริเวณด้านหน้าโรงงานฯ ตรวจไม่พบสารสไตรีน และตรวจพบฟอร์มาลดีไฮด์ ในระดับ 0.007 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน และ 3.บริเวณชุมชนใกล้เคียงโรงงาน 3 จุด ในรัศมี 1-2 กม. ตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีน และฟอร์มาลดีไฮด์
ทั้งนี้ คพ.ได้ประสานข้อมูลการตรวจวัดผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศรายวันให้กับ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.สมุทรปราการ เพื่อการตัดสินใจยุติการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ต่อไป
ล่าสุด เวลา 13.00 น. ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยสถานีคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ 5 สถานี ได้แก่ 1.ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง 2.ต.บางโปรง อ.เมืองสมุทรปราการ 3.ต.ตลาด อ.พระประแดง 4. ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ
และ 5.ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง และหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศเคลื่อนที่บริเวณเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ด้านทิศเหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) และบริเวณวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี ผลการตรวจวัด พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยผลการตรวจวัด เวลา 13.00 น. สรุปได้ดังนี้
• ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดอยู่ในช่วง 5-23 มคก./ลบ.ม.
• ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดอยู่ในช่วง 18-37 มคก./ลบ.ม
• ก๊าซโอโซน เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 9-24 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb)
• ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 6-14 ppb
• ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 0-4 ppb
• ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 0.1-0.69 ส่วนในล้านส่วน (ppm)
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Total VOCs) ใน 4 จุด พบว่า
- บริเวณภายในรั้วโรงงานใกล้ถังเก็บสารเคมี มีค่า 108.5 ppm
- บริเวณภายในรั้วโรงงาน มีค่า 0.3 ppm
- บริเวณด้านหน้าโรงงานห่างออกมา 5 เมตร มีค่า 0.7 ppm
- บริเวณห่างรั้วโรงงานออกไป 50 เมตร มีค่า 0 ppm
แนวโน้มคุณภาพอากาศ - หารือแผนจัดการสารเคมีตกค้าง
นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) กล่าวว่า การควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการปะทุอีกครั้งสำคัญมาก โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศและแหล่งน้ำ และการควบคุมอุณหภูมิสารเคมีเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก
ดังนั้นการเคลื่อนย้ายสารเคมีออกนอกพื้นที่โดยเร็ว คือทางที่ที่ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ส่วนกลางอยู่ระหว่างหารือแผนการจัดการสารเคมีที่ตกค้างอยู่ไปจนถึงซากเผาไหม้ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก สนับสนุนการตรวจวัดคุณภาพอากาศในจุดเกิดเหตุไฟไหม้ โดยเข้าตรวจวัดพื้นที่ชั้นในของโรงงานพบค่าสไตรีน โมโนเมอร์ ในชั้นบรรยากาศสูงกว่า 80 ppm
ขณะที่มลพิษทางน้ำที่มีการปนเปื้อนสารเคมียังไม่แน่ชัดว่า สารเคมีปนเปื้อนออกไปมากน้อยเท่าใด เบื้องต้นตรวจเก็บตัวอย่างหน้าโรงงาน พบค่าสารเคมีปนเปื้อนที่ 32.5 NTU ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐาน ที่ 100 NTU และยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล สำรวจพื้นที่ตรวจสอบรอบพื้นที่ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะการตรวจสอบเหล้านี้เกี่ยวข้องกับมูลฐานความผิดทางคดีด้วย
ระยะนี้ขอประชาชนในพื้นที่และโดยรอบงดใช้น้ำธรรมชาติ เช่น การรองน้ำฝน รดต้นไม้ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังและสุขภาพ
ส่วนปริมานของสารเคมีสไตรีน โมโนเมอร์ ที่คงเหลือตกค้างในถัง มีข้อมูลจากนายสุเทพ มั่นคง พนักงานของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด คาดการณ์ว่า ในถังจะมีสารเคมีตกค้างอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน จากจำนวนคงเหลือก่อนเกินเหตุที่มีอยู่ 1,600 ตัน เพราะอาจจะถูกเผาไหม้ไปกว่า 600 ลิตร
ส่วนภายนอกก็มีบางส่วนที่รั่วไหลตามพื้นผิวใต้อาการที่มีพื้นทรุด ขนาด 800 ตร.ม.การดำเนินการขณะนี้ยังเป็นการพรมน้ำโดยทั่วบริเวณดังกล่าวเอาไว้เป็นระยะเพื่อคุมอุณหภูมิให้เย็นที่สุด รอการดำเนินการจัดการสารเคมี ตามแผนของผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี โดยคาดว่าจะชัดเจนในช่วงบ่ายวันนี้
ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ เข้าติดป้ายคำสั่งให้ บริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด หยุดประกอบกิจการทั้งหมด พร้อมสั่งห้ามพนักงานโรงงานเข้าพื้นที่ หากฝืนมีโทษตามกฎหมายทั้งจำและปรับ
นอกจากนี้สั่งควบคุมจัดการเครื่องจักร อุปกรณ์ในพื้นที่เกิดเหตุ ให้จัดการเรื่องสิ่งปฏิกูล หรือวัตถุที่ไม่ใช้แล้ว โดยเฉพาะจัดการสารเคมีที่ตกค้างทั้งหมด ให้มีสภาพปลอดภัยเหมาะสม และไม่เสี่ยงอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ให้แล้วเสร็จในวันที่ 20 ส.ค.นี้
อนุญาตกลับเข้าพื้นที่ใกล้เหตุเพลิงไหม้ ยกเว้นรัศมี 1 กม.
ขณะที่ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ ระบุว่า เตรียมให้ประชาชนที่ต้องอพยพจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี กลับเข้าพื้นที่ได้ตามปกติได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ของวันนี้
ยกเว้นเฉพาะพื้นที่ในรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดเหตุได้แก่ ถ.กิ่งแก้ว ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ซอย 19-25 จะยังจัดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งทางผกก.สภ.บางแก้ว ได้จัดกำลังตำรวจดูแลความปลอดภัย ส่วนการสัญจรบนนถนนกิ่งแก้ว สามารถสัญจรได้ตลอดสายแล้ว
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการจ่ายชดเชยให้กับผู้อพยพที่ไปเช่าโรงแรมอยู่นอกพื้นที่ โดยทางจังหวัดได้จัดที่พักอาศัย อาหาร และน้ำดื่มไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือ
ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายให้ถ่ายภาพที่พักอาศัยไว้เป็นหลักฐาน สิ่งใดสามารถประเมินราคาได้ ให้นำหลักฐานการประเมินไปลงบันทึกประจำวันไว้ ที่สภ.บางแก้ว เพื่อรอการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป