วันนี้ (12 ก.ค.2564) นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง จ.สงขลา เปิดเผยผ่าน เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพออกปฏิบัติหน้าที่ และพบร่องรอยสัตว์ป่า รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ที่ไม่มีรายงานพบมานานถึง 10 ปี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง โดยพบเป็นงูพริกท้องแดง
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รายงานว่า งูพริกท้องแดง Blue Long-glanded Coral Snake Calliophisbivirgatusflaviceps (Cantor, 1839) เป็นงูที่มีความยาวจากหัวถึงปลายหาง ประมาณ 1.85 เมตร ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินเข้ม หรือสีดำน้ำเงิน ส่วนหัว หาง ท้อง และด้านข้างลำตัวสีแดงเข้ม
ในชนิดย่อยอาจจำแนกบนพื้นฐานของสีและรูปแบบที่แตกต่างออกไป ชนิดย่อย bivirgatus มีเส้นกลางหลังสีขาวแคบ ชนิดย่อย flaviceps มีเส้นกลางหลังสีฟ้าจาง ชนิดย่อย tetrataenia มีเส้นด้านข้าง 4 เส้น ซึ่งเส้นนอกสุดจะแถบกว้างที่สุด เป็นงูที่ลำตัวเพรียว หัวสั้นแยกออกจากคอไม่ชัดเจน ตาเล็ก มีลูกตาดำกลม หางสั้น ปลายหางแหลม ด้านหลังเรียบ
จากรายงานพบการแพร่กระจายในประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย C.b.flaviceps พบในประเทศพม่า ไทยมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทย มีรายงานการแพร่กระจายใน จ.ตรัง บริเวณเขาบรรทัด และเขาช่อง ส่วนที่ จ.สงขลา มีรายงานพบที่โตนงาช้าง และที่จ.นราธิวาส พบที่ อ.แว้ง ขณะที่สถานที่พบครั้งแรกคือเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
งูชนิดนี้เป็นงูที่มีพิษอันตราย แต่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก เมื่อถูกศัตรูคุกคาม จะม้วนส่วนหางชูขึ้นให้เห็นส่วนใต้หางที่มีสีแดง เป็นการข่มขู่ศัตรูให้กลัว