วันนี้ (15 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบไปด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง "การออกข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน"
ในเนื้อหาของแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 โดยในข้อ 11 ของข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึง "มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า... การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548"
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้มีการประชุมหารือ โดยนำเอาข้อห่วงใยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนต่อข้อกำหนดดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว จึงได้มีความเห็นร่วมกันดังต่อไปนี้
1. การออกข้อกำหนดฯ โดยมีมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความชัดเจนกว่า เพราะได้มีการระบุว่าต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรค COVID-19 และต้องเป็นการเสนอข่าว หรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน ดังนั้น การตัดข้อความอันเป็นเงื่อนไขสำคัญดังกล่าว จึงเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ดุลยพินิจจนอาจกระทบต่อการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนได้
2. ในทางปฏิบัติแล้ว มีกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐระงับยับยั้งหรือดำเนินคดีกับประชาชนและสื่อมวลชนที่เสนอข่าวหรือข้อมูลต่างๆ โดยมีเจตนาบิดเบือนจนก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อสาธารณะ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ฯลฯ เป็นต้น การออกข้อกำหนดดังกล่าว จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่า รัฐบาลเจตนาที่จะใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อปิดกั้นการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นการจำกัดการนำเสนอข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ มิใช่นำมาใช้กับสถานการณ์โรคระบาด
3. จากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมากว่าปีครึ่งนั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายครั้งว่า หน่วยงานของรัฐเองได้มีการสื่อสารผิดพลาด ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเกิดความสับสน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ให้ความร่วมมือในการประสานงานเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ผ่านสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกมาโดยตลอด ดังนั้น รัฐบาลควรใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในการสื่อสารเพื่อขจัดปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์มากกว่าที่จะใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจแก่องค์กรสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วยความทุ่มเทและยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ภายใต้สถานการณ์ข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นผ่านโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งหวังว่า ทุกองค์กรจะยังคงยึดมั่นในแนวทางการทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไป
5. สำหรับประชาชนผู้บริโภคข่าวสารในสถานการณ์โรคระบาดและภายใต้ภูมิทัศน์การสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้นั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการรับและส่งข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย โดยการใช้กลไกของสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาชนสังคมต่างๆ ที่พยายามทำหน้าที่ตรวจสอบความน่าเชื่อของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่จำนวนมากในขณะนี้
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด พร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดที่กำลังเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยและคนไทยในขณะนี้