วันนี้ (22 ก.ค.2564) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มีการเปิดเผยผลการศึกษาวัคซีน COVID-19 ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ซึ่งถือเป็นการยืนยันข้อมูลการค้นพบของสาธารณสุขอังกฤษ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ของไฟเซอร์และบีออนเทค กับวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกา กับการใช้งานจริง
โดยพบว่าการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ 2 โดส จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการป่วยจากเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาได้ร้อยละ 88 เทียบกับประสิทธิภาพในการรับมือกับสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.7
ขณะที่วัคซีนของแอสตราเซเนกา 2 โดส จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลตาได้ร้อยละ 67 เทียบกับสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 74.5
นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังถือเป็นการย้ำด้วยว่า การรับวัคซีนไปเพียงแค่โดสเดียวไม่เพียงพอต่อการปกป้องจากสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากประสิทธิภาพจะเหลือเพียงร้อยละ 36 สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ และร้อยละ 30 สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา
แพทย์สหรัฐฯ เผยประสิทธิภาพวัคซีน J&J รับมือเดลตา
ส่วนผลการศึกษาจาก Grossman School of Medicine ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในห้องปฏิบัติการ พบว่า วัคซีนแบบโดสเดียวตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการป่วย จากสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณร้อยละ 33 ซึ่งเทียบเท่ากับการรับวัคซีนแอสตราเซเนกาโดสเดียว
การศึกษานี้เป็นเพียงการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะไม่สะท้อนประสิทธิภาพในการใช้งานจริง ขณะที่ผลการศึกษานี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ หรือตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์
นักไวรัสวิทยาที่เป็นหัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลนี้ เพียงเพื่อต้องการให้ในอนาคตมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนตัวเดิม หรือวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา
ที่มา : Reuters, New York Times, New England Journal of Medicine, Dayton 24/7 Now