วันที่ 22 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เข้าขั้นวิกฤตอย่างรุนแรง ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น
จึงจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 สำหรับการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้าหลักเกณฑ์และสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2550 ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564
มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่มีทรัพยากรในการรักษาจำกัด แพทย์ผู้รักษาพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือให้คำปรึกษาเพื่อการไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และมุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 โดยแบ่ง 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า
ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาโดยวาจา หรือโดยลายลักษณ์อักษร (advance directive หรือ living will) ไม่ประสงค์ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือมีการประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ตัดสินใจแทน (surrogate decision maker) แล้ว กรณีที่ไม่มีการมอบหมายไว้ ญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิด และทีมสหสาขาวิชาร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ
กรณีที่ 2 ผู้ป่วยไม่ได้มีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า
แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อผู้ป่วยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจาก 4 ข้อ ดังนี้
- อายุมากกว่า 75 ปี
- ป่วยเป็นโรคที่มีค่าคะแนน Charlson Comorbidity Index (CC) มากกว่า 4 เช่น โรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจาย และโรคเอดส์ (AIDS)
- ผู้ป่วยที่มีความเปราะบางระดับปานกลาง, รุนแรง, รุนแรงมาก, อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Clinical Frailty Scale (CFS) มากกว่าหรือเท่ากับ 6
- เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เตียงเต็ม
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รายงานข้อมูลเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) ว่า ตัวเลขผู้ป่วย COVID-19 ใหม่ที่รับมาอยู่ที่ 24 คน ผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้ 21 คน ยอดผู้ป่วยรวมยังอยู่ที่ 392 คน โดยไม่รวมเคส PUI ที่ต้องกักตัว ที่น่าสังเกต คือ มีผู้ป่วยเด็กเล็กรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามถึง 50 คน
สำหรับโครงการ Home Isolation ตัวเลขผู้ป่วยในโครงการนี้เกือบ 300 คน แต่คาดว่าตัวเลขสะสม ณ ช่วงเย็นวานนี้ (22 ก.ค.) น่าจะเกิน 300 คน โดยหวังและจะพยายามดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation มากขึ้น เพราะอาจเป็นทางรอดทางเดียวที่จะช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมากมาย ในสถานการณ์วิกฤตและไม่มีเตียงพอรองรับในโรงพยาบาล
การงดให้บริการผู้ป่วยนอกที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือการเลื่อนวันนัดพบแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลต้องหาทางดูแลผู้ป่วยที่ยังมีความจำเป็นต้องรับยา หรือปรึกษาแพทย์ตามรอบระยะเวลาอยู่ โดยมีจำนวนยาที่ฝ่ายเภสัชกรรมต้องจัดส่งทางไปรษณีย์ให้กับคนไข้มากถึงกว่า 500 กล่องแล้ว และอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป เพราะยังมีหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่ COVID-19 ไปพร้อม ๆ กัน โดยกำลังคนกลุ่มที่มีอยู่เดิมนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศพล้น! ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ ขอเช่าตู้คอนเทนเนอร์เก็บศพเพิ่ม