ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงจากห้องเรียนในบ้าน อนาคตที่น่าเป็นห่วง "เด็กพัฒนาช้า-ผู้ปกครองไม่พร้อม"

สังคม
4 ส.ค. 64
05:59
16,723
Logo Thai PBS
เสียงจากห้องเรียนในบ้าน อนาคตที่น่าเป็นห่วง "เด็กพัฒนาช้า-ผู้ปกครองไม่พร้อม"
กลายเป็นโจทย์ท้าทายของครูปฐมวัยกับการจัดการเรียนการสอนให้เด็กเล็กวัยอนุบาล ซึ่งเทคโนโลยีสำหรับเด็กวัยนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นผล เท่าการเรียนรู้ที่ได้ทดลองหยิบจับ

เมื่อไม่ได้เจอครูในห้องเรียน พัฒนาการด้านต่างๆ เด็กวัยนี้จะทำได้อย่างไร

เป็นคำถามและที่มาของแนวทางการเรียนการสอนที่ครูต้องปรับตัว ออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมสำหรับช่วงวัย ที่สำคัญครู ผู้ปกครอง ต้องร่วมมือไปด้วยกัน

ปู่ย่ารับภาระ กระทบพัฒนาการเด็กเล็ก

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องยอมรับว่า ทุกครอบครัวยังต้องหารายได้ มาเลี้ยงดูและจุนเจือครอบครัว ในช่วงกลางวันเด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ต้องอยู่กับญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เคียงข้างการเรียนรู้ของหลาน

ทำให้การเรียนของเด็กอนุบาล จึงยากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ ทั้ง พูดช้า และแม้แต่พัฒนาการทางด้านร่างกาย ก็น้อยลงด้วย

เด็กในช่วงวัย 3-6 ปี ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา หากพ่อแม่ออกไปทำงาน หรือไม่พร้อมดูแลในบางวัน บางครั้งเด็กจึงต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งผู้สูงวัยบางคนใช้เทคโนโลยีไม่เป็น กลายเป็นว่า เด็กจะไม่ได้เรียนในช่วงเวลาหนึ่ง

เสียงสะท้อนจากครูปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลสังกัดเอกชนแห่งหนึ่งใน กรุงเทพมหานคร

แนวทางแก้ปัญหาที่ครูอย่างเธอทำได้ คือการปรับวิธีการสอน เมื่อเด็กเล็กต้องเรียนที่บ้าน แม้จะมีการส่งเอกสารการเรียนรู้ให้ผู้ปกครองมารับที่โรงเรียน พร้อมคลิปการสอน

แต่ยังเป็นเรื่องยากในการสอนเด็กช่วงวัย 3-6 ปี การเรียนของเด็กวัยนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับครูเป็นพิเศษ

ไม่ชำนาญเทคโนโลยี แต่ความตั้งใจช่วยให้ผ่านอุปสรรค

ขณะที่ครูชั้นปฐมวัย ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ปกครองที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนออนไลน์ แต่ครูผู้สอนก็ต้องปรับตัวในเรื่องเทคโนโลยีไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอุปกรณ์ เพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งขาตั้งโทรศัพท์ ที่ต้องใช้ถ่ายทำคลิปวีดีโอการเรียนการสอน

ต้องนำคลิปวิดีโอมาตัดต่อให้มีเนื้อหา แสง สี เสียง ที่ดึงดูดน่าสนใจ เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย

สิ่งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับคุณครูที่ไม่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยี ต้องใช้เวลาเรียนรู้เพิ่ม นอกเหนือจากขอบเขตงานประจำที่ทำอยู่ เพื่อให้คลิปวิดีโอ สื่อการเรียนการสอน ที่จัดทำออกมามีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยมากที่สุด ใกล้เคียงกับการเรียนที่โรงเรียนตามปกติ ที่สำคัญเด็กๆ ต้องเรียนรู้ ด้วยความสนุกสนาน

คิดใหม่ ทำใหม่ กับบทบาทครูนักสร้างสรรค์

สอดคล้องกับ น.ส.อัญญารัตน์ พลีรักษ์ ครูสังกัด กทม. ที่มองว่า การเรียนของเด็กอนุบาล ยากขึ้นกว่าปกติ ครูต้องทำคลิปเพื่อดึงดูดความสนใจเด็กให้ได้

การสอนจะต้องให้เด็กสนุก เช่น หากต้องการแนะนำให้เด็กรู้จักชื่อสัตว์ ต้องให้เด็กได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง บางครั้งต้อง แทรกเกม เข้าไปด้วย เด็กได้โต้ตอบ ให้เด็กๆ ลองทาย หลังจากนั้นก็ให้ผู้ปกครองถ่ายคลิป ส่งกลับมา

และเมื่อมีเทศกาลสำคัญอย่าง เช่น วันเข้าพรรษา ครูก็จะให้ผู้ปกครองถ่ายคลิปนักเรียนขอพร 1 ข้อ ส่งมา ตรงนี้เป็นการติดตาม เพื่อจะดูพัฒนาการการสื่อสารของเด็ก

ขณะที่ในช่วงที่ยังเรียนรู้ได้ในห้องเรียน ดินน้ำมัน สี กระดาษ คือเครื่องมือหนึ่งที่ครู ใช้เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย เพราะถือเป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก

น.ส.อัญญารัตน์ กล่าวว่า เพื่อให้เด็กอยู่ที่บ้านยังได้เรียนรู้ ได้เล่น จึงจัดส่งอุปกรณ์ ไปให้เด็กได้ขีดเขียน เสริมสร้างจิตนาการกันที่บ้าน

เด็กหลายคน อยู่ห้องเช่าห้องพัก คอนโด สถานการณ์แบบนี้ออกไปไหน ไม่ได้อยู่แล้ว จะไปเล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ แน่นอนว่ากระทบสุขภาพจิต การส่งอุปกรณ์การเรียนรู้ไปให้ ยังช่วยลดปัญหาเด็กติดหน้าจอ พ่อแม่ก็สามารถเป็นเพื่อนเล่นได้

ธรรมชาติของห้องเรียนอนุบาลต้องอยู่ร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าสังคม

ครูกับเด็กต้องมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่เน้นอ่านเขียน เด็กในวัยนี้เขายังต้องได้เล่น เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ เล่นกับเพื่อน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเขา

การเรียนร่วมกัน การเล่นร่วมกัน จะได้ทั้งร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา แต่ว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ครูกับนักเรียนต้องห่างกันระยะหนึ่ง สิ่งที่เชื่อมได้คงต้องเป็นผู้ปกครอง

ห่วงเด็กเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง

นางจิตรลดา พรหมมาลี สะท้อนปัญหาและข้อกังวลในการจัดการเรียนการสอนช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยในช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดจำนวนมาก มีเด็กที่ดูแลการเรียนการสอนติดเชื้อหลายคน ขณะที่โรงเรียนที่สอนขณะนี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก็ต้องปรับเป็น รพ.สนาม ให้ครู Work from Home

ช่วงโควิด ครูไม่ได้พบปะกับเด็ก ทำให้เด็กขาดความสนิทสนม เด็กบางคนไม่ไว้ใจเรา การเรียนจึงยากขึ้น

 

โรงเรียนปรับการเรียนผสมระหว่างออนไลน์ กับ On hand แต่ตั้งแต่เริ่มก็เกิดปัญหา ผู้ปกครองบางคนไม่พร้อมทั้งอุปกรณ์ สอนลูกหลานไม่ได้ บางคนเป็นแรงงานต่างชาติ การสื่อสารระหว่างกันจึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค บางครั้งครูจะแนะนำอะไรกันไปก็ฟังไม่เข้าใจ

โรงเรียนปิดยาว ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ต่อเนื่อง เด็กอนุบาลผู้ปกครองต้องคอยช่วยให้เด็กทำกิจกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งผู้ปกครองของเด็กทำงานแคมป์ก่อสร้าง มีทั้งชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา

นางจิตรลดา มองว่า การเปิดเรียนจะยังไม่สามารถทำได้ในเร็ว ๆ นี้ และสิ่งที่กังวัลตอนนี้ คือ ผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว จะมีเด็กที่เข้ามาเรียนตามช่วงวัย ตามเกณฑ์ เพราะฉะนั้นจะให้ซ้ำชั้นไม่ได้ เด็กก็ต้องเลื่อนชั้นไป

สิ่งที่จะตามมาคือ ครูที่สอนเด็ก อาจต้องทำงานหนักขึ้น ในการที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ

หากเด็กต้องเลื่อนชั้นจากอนุบาล 2 เป็นอนุบาล 3 เด็กอาจปรับตัวไม่ทัน ซึ่งกระทบจิตใจร่างกาย สติปัญญา นี้น่าจะเป็นปัญหาที่ตามมา

ติดเชื้อพักก่อน ค่อยมาเริ่มกันใหม่

การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เช่นในระดับชั้นอนุบาล ผู้ปกครองต้องคอยช่วยให้เด็กทำกิจกรรม แต่เหตุการณ์ตอนนี้ไม่ใช้แบบนั้น การมีส่วนร่วมขาดหายไป จากการที่พ่อแม่ต้องติดเชื้อโควิด เด็กบางคนติดด้วย เราจึงต้องหยุดให้เขาก่อน ให้เขาได้รักษาตัวกันก่อน

ขณะที่พ่อแม่บางคนไม่สามารถที่จะสอนลูกเขาได้ ซึ่งตนเองเข้าใจ เพราะก็มีลูกเหมือนกัน จึงได้แต่ให้กำลังใจผู้ปกครองว่า “เอาให้ดีที่สุดอ่ะแม่ เอาให้เต็มที่อ่ะแม่”

ผู้ปกครองบางคน มาบอกว่า ครูหนูสอนไม่ได้ กลายเป็นว่า เขาต้องตีลูกเขา ต้องเล่นบทโหด ครูก็ได้แต่แนะนำในเรื่องการพูดคุยกับเด็กไป ขณะที่เด็กที่มีผู้ปกครองที่เป็นแรงงานต่างชาติ ก็ค่อนข้างกังวลหน่อย

เรียนรู้ด้วยการเล่น เสริมจินตนาการ

นางจิตรลดา กล่าวว่า การใช้ สื่อการเรียนในรูปแบบคลิปต่างๆ ต้องยอมรับว่า ความสนใจของเด็กช่วงวัยนี้น้อยกว่า ช่วงวัยอื่น ให้เด็กดู 3-5 นาที ยาก ที่จะให้มาอยู่หน้าจอ ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ เขาต้องเล่น เรียนรู้จากการเล่น เลอะเทอะบ้าง แต่เด็กก็จะได้มีความสุข

ในอนาคตครูอาจต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น คิดอยู่ว่าเปิดเทอมจะทำยังไงให้เขาได้เรียนรู้ไว ซึ่งหากเปิดให้เรียนในห้องได้ในอนาคต การอยู่กับเขาครูก็อาจต้องปรับ อาจได้ใกล้ชิดเขาน้อยลง

อนาคตเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่เราต้องแบกเอาไว้มาก เราคิดกันทุกวัน ถ้ากลับไปสอนมันต้องถาโถมแน่ๆ มากกว่า คนอื่นๆ ด้วยซ้ำ ทั้งในเรื่องจิตวิทยา และกระบวนการสอน

สำหรับตอนนี้เราคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ถ้าเหตุการณ์มันดีขึ้น ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ว่าจะเป็นภูเขาลูกไหน เราก็ต้องรับให้ได้อยู่ดี จะให้ทำยังไงได้

หากมองในภาพรวมความน่าเป็นห่วงของเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเฉพาะหน้าอยู่ตรงนี้เท่านั้น แต่น่าเป็นห่วงถึงอนาคตอีกหลายปีต่อจากนี้ เมื่อเขาต้องเลื่อนขึ้นไปเรียนในชั้นที่สูงขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ครูนักสำรวจ" กับความหวังรัฐช่วยหนุน ผปค. - นร.ช่วงเรียนออนไลน์

ครม.เคาะลดภาระค่าใช้จ่าย "นักเรียน-นักศึกษา" วงเงิน 3.2 หมื่นล้าน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง