วานนี้ (3 ส.ค.2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า ด้วยในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดด มีส่วนทำให้ให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้ปะการังฟอกขาว
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ ในอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไป ในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2563 และ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 จึงออกประกาศ ดังนี้
ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไป ในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben
หากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อ่านข่าวเพิ่ม "ปาเลา" ประเทศแรกแบน "ครีมกันแดด" เป็นพิษต่อแนวปะการัง
ภาพ: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติ ทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต
ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าทั่วโลกมีครีมกันแดด มากถึง 3,500 ยี่ห้อ และตัวสารเคมี 4 ชนิด ชนิดที่นักวิจัยพบว่า ฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว
Oxybenzone หรือ BP3 รบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนของปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี
"ปาเลา" ชาติแรกแบนครีมกันแดด
ก่อนหน้านี้ "ปาเลา" ประเทศแรกของโลก ที่ออกกฎหมายแบนครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตราย 10 ชนิด เช่น oxybenzone และ octinoxate เนื่องจากเป็นอันตรายต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.2563
นอกจากนี้ รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา หมู่เกาะแคริบเบียนของเนเธอร์แลนด์ ในโบแนร์ รวมถึงหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายแบนสารเคมีอันตรายในครีมกันแดดมีผลบังคับใช้ในเมื่อเดือนมี.ค.นี้
แนะทางเลือกเลี่ยงสารพิษทำลายปะการัง
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563 เพจเฟซบุ๊ก สำนักอุทยานแห่งชาติ National Parks of Thailand ได้โพสต์ให้ความรู้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด เนื่องจากพบงานวิจัยว่าครีมกันแดดมีสารเคมี ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ผสมอยู่เมื่อถูกชะล้างจะลงสู่แนวปะการังทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เพราะฆ่าตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว
งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่าในทะเลทุกปีมีสารพิษทำลายปะการังในทะเลมากถึง 14,000 ตัน ทั้งนี้ วิธีลดการทำร้ายปะการัง
สำหรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ทำร้ายปะการังและธรรมชาติ ดังนี้
- เลือกครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการังที่ไม่มีส่วนผสมของ "Oxybenzone" เลือกใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ซึ่งไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย
- ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ "Water resistant" เพราะจะเกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่าครีมกันแดดแบบทั่วไป
- ใช้หมวกและเสื้อแขนยาวรวมไปถึงร่ม เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤต! ทะเลอุ่น ปะการังแหล่งท่องเที่ยวภูเก็ตฟอกขาวร้อยละ 40