เรามีพื้นฐานเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสานอยู่แล้ว ถ้าแปลงตรงนี้เราได้ต่อจิ๊กซอว์ความฝันที่เรามี มันก็จะเห็นมุมที่จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น
คำบอกเล่าของ ทรงเดช ก้อนวิมล สะท้อนความหวังของผู้ที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล แต่เขาและเกษตรกรอีก 12 คน ใน ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ก็เริ่มหมดหวัง หลังผู้รับเหมาแจ้งว่าไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าขุดในจุดที่มีน้ำขัง อาจต้องรอให้หมดหน้าฝนถึงจะเริ่มขุด
เกษตรกรเคยตั้งใจว่าจะนำกล้าพันธุ์ต้นไม้ที่เพาะเองกับมือ ลงปลูกในที่โคกหลังขุดปรับพื้นที่ในช่วงหน้าฝน แต่ตอนนี้ต้องปรับแผน เพราะหากได้ขุดช่วงปลายปี พวกเขาอาจต้องรอจนถึงหน้าฝนปีหน้าจึงจะเริ่มปลูกต้นไม้ เพื่อไม่ให้ตายแล้ง
คนที่จะปลูกต้นไม้หน้าแล้งแล้วรอดต้องขยันมากเลยนะ ถ้าขุดปลายปี ก็ไม่อยากไปปลูกต้นไม้หน้าแล้งหรอก มันเสี่ยงที่จะแห้งตาย
เขาอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับความพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้
ต้นสังกัดที่ทำโครงการนี้จะต้อง ส่วนหนึ่งที่พี่ดูคือ บุคคลากรไม่มีทักษะ หรือยังไม่เข้าใจงานพัสดุ งานจัดซื้อจัดจ้าง หรืองานที่เป็นโครงสร้างต่างๆ ทรงเดชกล่าว
ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โคกหนองนาของณิภาพร ก่านแก้ว ขุดเสร็จเมื่อ 2 เดือนก่อน ต้นไม้ และพืชผักเริ่มงอกงาม แต่ปัญหาใหญ่ของโคกหนองนาดินทราย คือฝนที่ทำให้ดินทรุดพัง เธอและสามีพยายามดูแลให้ดีที่สุด เพราะนี่คือการได้ทำตามความฝัน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะทำให้ครอบครัวมีอยู่มีกิน
แต่หากเลือกได้เธอก็อยากให้ภาครัฐเร่งรัดให้การขุดปรับพื้นที่ให้แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงหน้าแล้ง เพื่อมีเวลาดูแลดินและป้องกันการทรุดพัง ก่อนที่จะเจอกับฝนหนักเช่นตอนนี้
“ตรงที่มันพังทะลายลงมากๆ เขาก็จะใช้วิธีดันน้ำไว้ก่อน แล้วก็ใช้ท่อระบายให้น้ำไหลลงท่อก่อน แล้วก็ ให้น้ำไหลลงตามหนอง เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงที่นาข้างเคียง และกลายเป็นกองดินทราย” ณิภาพรกล่าว
โครงการโคกหนองนาโมเดล วงเงินกว่า 4,700 ล้านบาท เป็นโครงการแรกๆที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งบเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล ซึ่งทำโคกหนองนาตามหลักกสิกรรมธรรมชาติมาก่อน ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับกรมการพัฒนาชุมชน เป็นแปลงต้นแบบระดับตำบล เนื้อที่ 15 ไร่ แต่ปัญหาและอุปสรรคการทำโครงการในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เขาพยายามเสนอทางออกและวิธีแก้ปัญหาให้กับภาครัฐ เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จในระยะยาว
เขาบอกว่า ถ้าจะทำโครงการนี้ต่อ ทั้งกรมการพัฒนาชุมชน หรือกระทรวงเกษตรฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ จะต้องมีบุคคลากรเฉพาะของตนเอง
"ผมคิดว่าในอนาคตโคกหนองนาจะต้องดำเนินต่อไป ปัญหาข้างหน้าก็คือ จะจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ทุนของเกษตรกรจะอยู่อย่างไร ผมคิดว่าข้อหนึ่งเลย ถ้าจะทำต่อ ต้องมีกองทุน หรือเป็นองค์กรมหาชน ที่จะขึ้นมาทำโคกหนองนาโดยเฉพาะ'' ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
ขณะที่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบประจำตำบล ที่ถูกจ้างเพื่อดำเนินโครงการหลายคนพยายามเรียนรู้การทำเกษตรตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ วินลดา จำชาติ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ และเพื่อนๆ บอกว่า หากการจ้างงานสิ้นสุดลง พวกเธอก็อยากมีโอกาสได้ทำโคกหนองนาของตัวเอง
จะทำค่ะ จะทำแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่มีงบขุดบ่อ จึงจะขุดทีละบ่อ แล้วค่อยทำคลองใส้ไก่ เอา 1 บ่อ กับคลองใส้ไก่ไว้ก่อน ส่วนช่วงนี้ก็มีปลูกกล้วยไว้ตามคันนา วินลดา กล่าว
โครงการโคกหนองนาโมเดล ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ขยายระยะเวลาจากเดิมสิ้นสุดเดือน กันยายนนี้ เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี่ทำให้เกษตรกรที่รอการขุดปรับพื้นที่ยังมีหวังว่าพวกเขาจะยังไม่ถูกยกเลิกโครงการ และยังคาดหวังว่าโครงการนี้จะถูกสานต่อจนประสบผลสำเร็จ