เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เปิดเผยว่า 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และยูนิเซฟ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เพื่อบูรณาการข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษา เด็กกำพร้าพ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีเด็กได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก
ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 4 ส.ค.2564 มียอดเด็กติดเชื้อโควิด-19 สะสม 65,086 คน แบ่งเป็น กทม. 15,465 คน ส่วนภูมิภาค 49,621 คน
นอกจากนี้ยังมีเด็กไม่ป่วย แต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ
ขณะที่ ดย.ได้ปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุ หรือ Mobile Application คุ้มครองเด็ก เพื่อค้นหาเด็กกำพร้า หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงกำพร้าและไม่มีผู้ดูแล ผ่านเครือข่ายคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ การประสาน การทำงานกับหน่วยงานและเครือข่ายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด
กรณีเด็กที่ผู้ปกครองติดเชื้อและไม่มีผู้ดูแล จะจัดอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแลเด็กระหว่างกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ หากยังไม่มีผู้ดูแล หรือยังกลับบ้านไม่ได้ มีการจัดเตรียมสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง รองรับได้ 160 คน เพื่อดูแลชั่วคราวระหว่าง รวมถึงจัดหาการดูแลในรูปแบบของครอบครัวเป็นลำดับแรก ติดตามครอบครัวเครือญาติ จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งเด็กเข้ารับการดูแลในสถานรองรับเด็กของ ดย.รองรับได้ 1,935 คน
“ปฐมพยาบาลทางใจ” เด็กสูญเสียคนในครอบครัว
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเด็กในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเรียนที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ เหมือนถูกตัดออกจากครูและเพื่อน ขาดโอกาสในการพัฒนา อีกทั้งในส่วนของเด็กเปราะบางหรือยากจนจะยิ่งเป็นปัญหา เพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ทำให้ตามกลุ่มอื่นไม่ทันยิ่งทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
กระทบกับครอบครัวทำให้ตกงาน เกิดสภาพยากจนเฉียบพลัน กลายเป็นความเครียดมาลงที่เด็กได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รัก รวมถึงผลกระทบเชิงสังคม เกิดความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสังคมที่แสดงความโกรธเกรี้ยวเกิดเฮทสปีชที่จะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กในเวลานี้ สูงกว่าเหตุการณ์สึนามิที่เคยเกิดขึ้น และมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน
พญ.ดุษฎี ระบุอีกว่า ในเวลานี้จำนวนเด็กที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเกินกว่า 5,000 ครอบครัว และยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นกรมสุขภาพจิตจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การประเมินว่า เด็กรายไหนที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเด็กทุกคนควรต้องได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เรียกว่า "ปฐมพยาบาลทางใจ" โดยสถาบันฯ พร้อมเข้าไปพัฒนาสมรรถนะทีมงานและอาสาสมัครให้สามารถปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นได้
กรณีที่เด็กยังเหลือร่องรอยบาดแผลจากการสูญเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม ทางสถาบันจะเป็นทีมที่ประสานรับส่งต่อเด็กกลุ่มนี้เพื่อการดูแลระยะยาว
มั่นใจพลังของสังคมไทยที่มีน้ำใจ ช่วยแจ้งเข้ามาทำให้เกิดสะพานเชื่อมระหว่างเด็กกับความช่วยเหลือ เรากำลังช่วยเด็กที่สูญเสียไม่ให้เขาต้องเสียศูนย์ ให้สามารถกลับมาเดินบนเส้นทางที่เขาได้รับการพัฒนาต่อไปได้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งกรณีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยประสานมาที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 สายด่วน 1300
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเด็กเล็กติดโควิด กับวันที่ต้องห่างครอบครัว
โควิดระลอกใหม่เด็กติดเชื้อหลักหมื่น ทำอย่างไรเมื่อต้อง Home Isolation
“กำพร้าข้ามคืน” มูลนิธิราชประชานุเคราะห์-พม. พลิกชีวิตเด็กอีกหลายร้อยคน