ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กสต็อก "ยาเรมเดซิเวียร์" เน้นใช้คนป่วยโควิด 3 กลุ่ม

สังคม
6 ส.ค. 64
17:18
11,368
Logo Thai PBS
เช็กสต็อก "ยาเรมเดซิเวียร์" เน้นใช้คนป่วยโควิด 3 กลุ่ม
รู้จัก "เรมเดซิเวียร์" ยาต้านโควิด ใช้แทนฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วย 3 กลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีปัญหาการดูดซึมยา ปอดบวมรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง ขณะที่กรมการแพทย์ยืนยันไทยมีในสต็อกเพียงพอ 1 หมื่นขวด และ อภ.เตรียมสั่งเพิ่มอีกหลายหมื่นขวด

จากกรณี พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Ittaporn Kanacharoen" ระบุว่า "ยาฉีดพิฆาต covid ที่ดื้อต่อฟาวิพิราเวียร์..วันนี้โดนห้ามขายให้เอกชน" ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาต้านไวรัสชนิดฉีด ของบริษัท กิลิแอด ไซเอนเซส สหรัฐอเมริกา ซึ่งในต่างประเทศได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง หรือใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งควรมีไว้ใช้กรณีคนไข้รับยาฟาวิพิราเวียร์แล้วไม่ตอบสนอง ถือเป็นไม้ตาย เดิมซื้อได้ในทั้งภาครัฐและเอกชน

แต่ขณะนี้มีคำสั่ง 24 กค.64 จำกัดห้ามขายเอกชน ซึ่งจะทำให้คนไข้ที่จะเข้าถึงยาในภาคเอกชนยากขึ้นแน่นอน ควรหาทางป้องกันก่อนเกิดปัญหาขาดยาให้ผู้ป่วย เพราะระบบการเบิกจ่ายรัฐไม่รวดเร็วพอ

 

กรมการแพทย์ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 ส.ค.2564 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ในส่วนหนึ่งมีข้อมูลการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ โดยในผู้ใหญ่ วันที่ 1: 200 mg IV วันที่ 2-5: 100 mg IV วันละครั้ง (US-NIH แนะนำให้ 5 วัน ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากต้องใช้ ECMO แนะนำให้ 10 วัน) ส่วนในผู้ป่วยเด็ก วันที่ 1: 5 mg/kg IV วันละครั้ง วันต่อมา : 2.5 mg/kg IV วันละครั้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายความแตกต่างระหว่างยาเรมเดซิเวียร์ กับ ฟาวิพิราเวียร์ ว่า ยาทั้ง 2 ชนิดออกฤทธิ์ที่เดียวกัน หากใช้ตัวหนึ่งแล้วไปใช้อีกตัวหนึ่งจะไม่มีประโยชน์ โดยหลักการแล้วจะใช้ยาเรมเดซิเวียร์ เมื่อกินยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ เช่น ดูดซึมไม่ดี ผู้ที่ไม่รู้ตัว หญิงตั้งครรภ์ที่ฟาวิพิราเวียร์และมีผลกับทารก ส่วนเรื่องงดให้โรงพยาบาลเอกชนเบิกน่าจะไม่จริง และส่วนตัวไม่ทราบ ต้องถามสอบองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

ยาดังกล่าวเบิกฟรีได้จาก อภ. ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หากเข้าหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ดูดซึมไม่ได้ หากห้ามขายอาจอยากเก็บสต็อกให้คนที่จำเป็นต้องใช้

ยัน "เรมเดซิเวียร์" สำรองเพียงพอ

ขณะที่ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ยืนยันว่า มียาเรมเดซิเวียร์สำรองเพียงพอ อยู่ที่ประมาณ 10,000 ขวด และ อย.อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลยอดการใช้ยา คาดว่าจะสั่งเพิ่มหลักหลายหมื่นขวด

ยาเรมเดซิเวียร์ เป็นทางเลือกจากยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะออกฤทธิ์ในที่เดียวกัน แต่เมื่อเทียบราคายาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้อยู่ที่เม็ดละ 15 บาท ต้องใช้คนละ 50-90 เม็ด อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ส่วนยาเรมเดซิเวียร์แพงกว่า 10 เท่า ใช้คนละ 6 ขวด หรือราคา 30,000-40,000 บาท

ต้องมีข้อบ่งชี้การใช้

แม้ฟาวิพิราเวียร์จะมีราคาถูกกว่ามาก แต่ในประเทศญี่ปุ่นได้ศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อใช้ยาดังกล่าวในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทารกไม่ปกติ ดังนั้นประเทศไทยจึงให้ยาเรมเดซิเวียร์กับหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก

นอกจากนี้ มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาและต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิจารณา โดยใช้ในคนไข้ เช่น ผ่าตัดลำไส้ ผ่าตัดกระเพาะ มีปัญหาในการดูดซึมยา, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยมีอาการปอดบวมอย่างรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเรมเดซิเวียร์ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มีปัญหาในผู้ป่วยภาวะซีด รวมทั้งผู้ป่วยโรคไตและตับ ทำให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นถูกใช้เป็นตัวแรก ๆ ในการรักษาผู้ป่วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"เรมเดซิเวียร์" ยาต้านไวรัส ความหวัง "คนท้อง" สู้โควิด-19 

ญี่ปุ่นไฟเขียวใช้ "เรมเดซิเวียร์" รักษา COVID-19 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง