วันนี้ (7 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่าข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลของอาการ COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ระบาด ประกอบด้วย สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธ์ุอังกฤษ สายพันธุ์เบตาหรือสายพันธุ์แอฟริกา และสายพันธุ์ S (ระบาดระลอกแรกในไทย) พบว่าแต่ละสายพันธุ์ จะมีอาการได้ ดังต่อไปนี้
อาการ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา
- อาการคล้ายหวัดธรรมดา
- ไม่ค่อยสูญเสียการรับรส
- มีน้ำมูก
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
อาการโควิดสายพันธุ์อัลฟา
- มีไข้ (มักมีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป)
- ไอ เจ็บคอ
- หายใจหอบเหนื่อย
- อาเจียนหรือท้องเสีย
- มีน้ำมูก
- ปวดเมื่อย
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
อาการโควิดสายพันธุ์เบตา
- อาการเจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อย
- ท้องเสีย
- ตาแดง
- มีผื่นตามผิวหนัง
- นิ้วมือ/เท้าเปลี่ยนสี
- การรับรส/ได้กลิ่นผิดปกติ
สายพันธุ์ S (ระบาดระลอกแรกในไทย)
- ไอต่อเนื่อง
- ลิ้นไม่รู้รส
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- หอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก
- มีไข้ 37.5 องศาขึ้นไป
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ระบุว่าการติดเชื้อในขณะนี้มาจาก 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 69.1 ส่วนสายพันธุ์อัลฟา ร้อยละ 28.2 ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว การใส่หน้ากากอนามัย 100% จะช่วยลดการแพร่เชื้อและป้องกันการรับเชื้อได้เป็นอย่างดี ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ทั้งขณะอยู่ในบ้านและนอกบ้าน โดยยึดหลัก 3 ถูก ถูกเวลา ถูกวิธี ถูกชนิด
ในบ้านเป็นพื้นที่ปิด ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 1 ชั้นก็พอ แต่หากต้องไปในแหล่งชุมชน เช่น ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้ใส่ 2 ชั้นโดยใส่หน้ากากทางการแพทย์ไว้ด้านใน และสวมหน้ากากผ้าไว้ด้านนอก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันเชื้อได้ดีขึ้น
ปัจจัย 2 สัปดาห์จุดพีคระบาด ตจว.
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์ในต่างจังหวัด 2 สัปดาห์ว่า ในส่วนของต่างจังหวัด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 3 ส่วน เนื่องจาก
ผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจาก กทม.และพื้นที่ระบาด ไปรับการรักษาโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่างที่รับผู้ติดเชื้อกลับไปดูแลต่อเนื่อง ซึ่งมีการประสานงานล่วงหน้า
ขณะที่บางส่วนที่กลับไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้ประสานงานล่วงหน้า เพราะคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ COVID-19 หรือคิดว่าไม่มีความเสี่ยง แต่กลับเป็นผู้มีความเสี่ยง เช่น ติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ แพร่ต่อ หากเจอผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดอาการป่วยหนัก
การติดเชื้อในต่างจังหวัดพบว่า ในโรงงาน สถานประกอบการมีคนติดเชื้อมากขึ้น โดยทั้ง 3 กลุ่มจำเป็นต้องควบคุมให้ดี คนที่เดินทางต่างจังหวัด ทำธุรกิจ ในพื้นที่ระบาด ต้องคิดเสมอว่าตัวเองมีความเสี่ยง ต้องปฏิบัติตัว ป้องกันตัวเอง จะได้ลดการติดเชื้อ แพร่เชื้อลงได้
ในอีก 2 สัปดาห์แม้จะมีการคาดการณ์จุดพีคสูงสุด แต่หากป้องกันตัวเองดี ดูแลคนในครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ ก็จะไม่เห็นสถานการณ์แบบนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมควบคุมโรคยันไม่ได้ส่งไฟเซอร์ให้ "หมอยง" เร่งกระจายแอสตราฯ 9 ส.ค.
สธ.ชี้ล็อกดาวน์ได้ผลติดเชื้อโควิดลด 20 % ใกล้โมเดลคาดการณ์