ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ล็อกดาวน์" กระทบยอดขายโมเดิร์นเทรดหาย 2.7 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจ
9 ส.ค. 64
18:10
305
Logo Thai PBS
"ล็อกดาวน์" กระทบยอดขายโมเดิร์นเทรดหาย 2.7 แสนล้านบาท
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประเมินเอสเอ็มอีในห่วงโซ่การผลิตโมเดิร์นเทรด 1 แสนราย จ่อปิดกิจการ หลังมาตรการคุมระบาด ทำ 7 เดือน ธุรกิจเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท วอนรัฐผ่อนคลายขนส่งสินค้าช่วงเคอร์ฟิว และปัดฝุ่นมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ควบคู่ลดภาษี และสาธารณูปโภค

วันนี้ (9 ส.ค.2564) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 45.3 ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี

 

ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ระดับ 43.7 สะท้อนความกังวลต่อสถานการของธุรกิจโมเดิร์นเทรด ยังคงมีแนวโน้มย่ำแย่ หลังสถานการณ์ระบาดยืดเยื้อ ทำให้รัฐอาจต้องขยายระยะเวลาล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5-7 แสนล้านบาท

เอกชนห่วงเสถียรภาพกระทบบริหารจัดการโควิด

ขณะที่นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าเอกชนเริ่มกังวลว่าปัญหาการเมือง และเสถียรภาพของรัฐบาล อาจกระทบประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเสนอให้รัฐบาลขยายวงเงินใช้จ่าย “คนละครึ่ง” และปัดฝุ่นมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” และขยายวงเงินเป็น 1 แสนบาท โดยไม่จำกัดประเภทสินค้า เพื่อพยุงอุตสาหกรรมโมเดิร์นเทรด ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของจีดีพี

 

ตลอดจน ขยายขอบเขตมาตรการลดค่าสาธารณูปโภค จากภาคครัวเรือน ให้ครอบคลุมภาคธุรกิจ และเวลามาตรการ ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึงปี 2565 รวมทั้งผ่อนคลายเกณฑ์การขนส่งสินค้าที่มีใบสั่งซื้อในช่วงเคอร์ฟิว เพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาสินค้าขาดแคลน และสภาพคล่องธุรกิจที่เริ่มตึงตัว

กลุ่มเซ็นทรัลคาดร้านค้ากว่า 1 แสนรายอาจปิดตัว

น.ส.ชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการกลุ่มค้าปลีก และบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการจำกัดการขนส่งสินค้าในช่วงเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบต่อการป้อนสินค้าในโมเดิร์นเทรด โดยเฉพาะอาหารสดเหลือร้อยละ 30 จากกำลังการผลิตทั้งหมด หลังเกิดคลัสเตอร์โรงงาน และยังถูกจำกัดการเดินทางขนส่งสินค้า ทั้งที่ผลผลิตต้นทางยังมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภค

 

พร้อมประเมินว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกเดือน ก.ค.2564 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ช่วง 7 เดือน เสียหายแล้ว 2.7 แสนล้านบาท จากเดิมต่อปีภาพรวมค้าปลีกไทยมีมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือ 3.8 ล้านล้านบาท ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีในห่วงโซ่อุตสาหกรรมโมเดิร์นเทรดไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านราย ซึ่งอาจกระทบการจ้างงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน

จึงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนให้ธุรกิจรายย่อย ยังคงจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ห้างฯ กำหนด เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องตึงตัว พร้อมยกกรณีบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล รวบรวมเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าถึงซอฟท์โลนกว่า 3 หมื่นราย แต่ได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งหมด จึงกังวลว่าหากยังคงคุมเข้มมาตรการต่อไป อาจทำให้ร้านค้าไม่น้อยกว่า 1 แสนราย ต้องปิดตัวลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง