การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น และรัฐมีมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด โดยเฉพาะในจังหวัดสีแดงเข้ม ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก กิจกรรมเศรษฐกิจทำได้ไม่ราบรื่นนัก คาดว่าจะมีผู้ตกงานเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มที่คาดว่าจะมีคนตกงานมาก หรือได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พนักงานร้านอาหาร เพราะขณะนี้หลายแห่งยังคงปิดให้บริการ แม้จะมีการผ่อนคลายให้สามารถซื้อกลับบ้านได้ แต่ยอดขายหายไปเกินครึ่ง
ทำให้หลายร้านยังคงเลือกปิดชั่วคราว เพราะเปิดไปไม่คุ้มทุน บางร้านที่เปิดได้ แต่ต้องลดแรงงานในร้านลงบางส่วน
รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า การสั่งปิดกิจการมีผลอย่างมากต่อตลาดแรงงาน พร้อมประเมินว่า หากยืดเยื้อถึงสิ้นปี คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราการว่างงานของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 ส่วนตัวเลขของผู้ว่างงาน อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน
พร้อมเสนอให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือตามบัตรประชาชน อย่างน้อยวันละ 100 บาท ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เห็นว่า มาตรการเยียวยาของรัฐ ในการจ่ายเงินช่วยเหลือ 2,500-5,000 บาท ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ควรทำเป็นแพคเกจแก้ปัญหาระยะยาว
เช่น สำรวจผู้ว่างงานในแต่ละจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ส่วนนักศึกษาจบใหม่ควรทำโครงการจ้างงานระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือ เพราะปี 2564 จะมีนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5 แสนคน
ทั้งนี้เว็บไซต์จัดหางานจ็อบดีบี รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.96 ขณะที่แนวโน้มการหางานในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหายากขึ้น
โดยพบว่าจำนวนใบสมัครงานในครึ่งปีแรก ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เทียบกับครึ่งปีหลัง ปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ปี 2563
ส่วนจำนวนใบสมัครงานต่อประกาศงาน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 ใบ ต่องาน สะท้อนจำนวนผู้สมัครงานเพิ่มขึ้น ขณะที่การประกาศรับสมัครงานน้อยลง และการคาดการณ์ว่า การประกาศงานครึ่งปีหลังจะลดลงร้อยละ 50
ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ การเดินทางและการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการเฉพาะกิจ สินค้าอุตสาหกรรม บริการด้านอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ และขายปลีก