จากกรณีข้อสังเกตรายชื่อผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา มีชื่อของภรรยา นพ.แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ และสามีของนางปาณิสรา ปัถยาวิชญ์ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภคของโรงพยาบาลนั้น
วันที่ 16 ส.ค.2564 นพ.แชมป์, นางปาณิสรา และคณะผู้บริหาร นำเอกสารหลักฐานรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่เสนอไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ มายืนยันความโปร่งใส
นพ.แชมป์ อธิบายว่า ทางโรงพยาบาลสำรวจรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าหลักเกณฑ์ฉีดไฟเซอร์ ซึ่งมีทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล, บุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, คลินิกเอกชน และสถานประกอบการที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ว่ามีผู้ได้ฉีดไฟเซอร์จำนวนเท่าใดและได้รายชื่อทั้งหมด 138 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 135 คน และบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกเอกชนอีก 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 คน คือ สามีของนางปาณิสรา หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ซึ่งเป็นเภสัชกรในร้านขายยาเอกชน และภรรยาของ นพ.แชมป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ซึ่งทำงานอยู่ในคลินิกเอกชน
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 144 โดส ซึ่งให้มาเกิน 6 โดส ทางโรงพยาบาลจึงได้นำวัคซีนที่เกินไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ที่กำลังตั้งครรภ์อีก 2 คน, บุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใด ๆ เลยอีก 3 คน และอีก 1 คนเป็นบุคลากรที่จองวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นเข็ม 3 แต่ยังไม่ได้ฉีด ทางโรงพยาบาลเห็นว่า บุคลากรคนดังกล่าวดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 จึงให้ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 แทน ยืนยันไม่มีการเบียดเบียนวัคซีนของบุคลากรด่านหน้า
อย่างไรก็ตาม นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา บอกว่า วัคซีนไฟเซอร์ต้องฉีดให้บุคลากรด่านหน้าก่อน ส่วนบุคลากรที่อยู่ในคลินิกเอกชนจะพิจารณาให้ในล็อตที่ 2 หากวัคซีนเพียงพอ เพราะมีคนขอจำนวนมาก ดังนั้นผู้บริหารโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ต้องชี้แจงให้ได้ว่าจำเป็นมากเพียงใด กรณีนำวัคซีนไฟเซอร์ ไปฉีดให้กับบุลคลากรในคลินิกเอกชน หากไม่มีเหตุผลเพียงพอต้องถูกดำเนินการทางวินัย