วันนี้ (17 ส.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น
เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนส.ค.นี้จำนวน 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12 จากข้อมูลกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไป ที่แข็งแรงดี จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น
แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัว ที่มีความเสี่ยงของ COVID-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
พบว่าตั้งแต่ 1 เม.ย.-14 ส.ค.นี้ มีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี 41,832 คนติด COVID-19 คิดเป็น 0.8% จำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับเด็กที่ติดเชื้อทุกคนเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยง ที่จะติดเชื้อได้ง่าย
สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในขณะนี้ คือวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ก่อนไปรับบริการให้สอบถาม และประสานนัดหมายกับสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล ที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้นๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประสิทธิผล "ซิโนแวค" 2 เข็ม ฉีดหมอป้องกันโควิดกลายพันธุ์
สธ.กังวลติดเชื้อโควิดหลักหมื่นในต่างจังหวัดแซงกทม.
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดลงทะเบียนฉีด "แอสตราฯ- ซิโนแวค" อายุ 18 ปีขึ้นไป