วันนี้ (18 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) อภิปรายขอสงวนความเห็น เพื่อตัดงบประมาณตามมาตรา 6 หรืองบกลาง ลดลง 2 หมื่นล้านบาท เหลือ 5.5 แสนล้านบาท
โดยเห็นว่า มีการเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้มีการตั้งเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินฯ แล้ว 8.9 หมื่นล้านบาท
ศิริกัญญา อภิปรายว่า การใช้งบกลางเป็นการเห็นชอบให้ใช้อำนาจโดยสมบูรณ์แก่นายกฯ และตรวจสอบได้ยากลำบาก อีกทั้งการแก้ปัญหา COVID-19 สภาฯ เพิ่งอนุมัติให้อำนาจ ก.คลัง กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ประเด็นที่ต้องจับตาคือการใช้จ่ายงบฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ตั้งคำถามกรณีอนุมัติงบกลาง 1,613 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดทำ State Quarantine และเริ่มมีโครงการที่ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับการแก้โควิดอย่างไร เช่น พัฒนาศักยภาพอุตกรรมปาล์มน้ำมัน 22 ล้านบาท สร้างรายได้จากอาชีพประมงฯ 1.14 ล้านบาท พัฒนาเนินทรายงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศฯ 19.12 ล้านบาท
จากการค้นมติ ครม. พบว่า โครงการดังกล่าวถูกอนุมัติผ่านการนำเสนอโครงการให้กับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2563 โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบโครงการดังกล่าว
แต่เมื่อนำเรื่องเข้า ครม.ได้มีความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้ใช้งบกลาง ในรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีโครงการจาก 50 จังหวัด 86 โครงการ
แบบนี้จะยิ่งไม่สับสนหรือ ไหนบอกว่าเงินกู้จะใช้โดยไม่ซ้ำซ้อนกับเงินที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน อนุมัติแบบนี้ทำถูกต้องแล้วหรือไร
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สงวนการแปรญัตติ โดยเสนอปรับลดงบกลางลง 10 % ซึ่งมาถึงไตรมาสที่ 3
เนื่องจากกรณีงบกลางตั้งไว้นั้น เพื่อสำหรับใช้ในกรณีมีเหตุผลและความจำเป็น โดยปี 2564 มีการตั้งงบกลางกรณีสำรองฉุกเฉิน โดยขณะนี้เข้าไตรมาส 3 เพิ่งมีการเบิกจ่ายงบประมาณไป 2,743 ล้านบาทเศษ หรือใช้ไป 2.7 % ซึ่งการนำมาไว้ที่งบกลางและนายกฯไม่ใช้ เนื่องจากไปใช้ในเงินในงบประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้แทน
และเมื่อไม่ได้ใช้ จึงเป็นภาระแทนที่จะนำไปใช้ป้องกัน ฟื้นฟูเยียวยาประชาชนจากปัญหา COVID-19 ดังนั้นการตั้งงบกลางไว้ 8,900 ล้านบาท ซึ่งก็จะเหมือนกับปีที่แล้วที่ไม่ได้ใช้ จึงขอให้ตัด
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า เรื่องงบกลางมีการพูดว่า เรื่องงบกลางมีกฎหมายวิธีงบประมาณมาตรา 36 เขียนไว้ว่า กรณีที่ผู้อำนวยการโดยอนุมัตินายกฯให้ใช้เงินใน 11 รายการ จำนวน 5 แสนล้านบาท ในกิจการใดก็สามารถทำได้ ดังนั้นงบกลางจึงตรวจสอบยาก
ใน กมธ.พยายามถาม สตง.ว่า ทำไมจึงไม่ตรวจสอบงบกลาง โดย สตง.แจ้งว่า เมื่อหน่วยงานรับงบประมาณไปแล้ว ต้องไปตรวจสอบที่หน่วยนั้น ซึ่งสำนักงบประมาณควรให้ สตง.ตรวจสอบว่านำงบประมาณไปทำอะไร
รวมถึงจากการตรวจสอบพบว่า กรณีงบกลางปี 60 กองทัพเรือใช้ไป 10,000 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 10,000 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 11,000 ล้านบาท ปี 63 จำนวน 11,000 ล้านบาท
ขณะที่ กองทัพอากาศปี 60 ใช้ไป 9,000 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 10,000 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 11,000 ล้านบาท ปี 63 จำนวน 96,000 ล้านบาท
เมื่อรวมกองทัพบกปีละ 40,000 ล้านบาท แสดงว่าการตั้งงบกลางเพื่อไปช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินนั้น งบกลางถูกนำไปใช้ในภารกิจความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ขณะที่ประชาชนลำบาก จึงเห็นว่างบกลางมีความไม่โปร่งใส
การเขียนระเบียบว่า ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยงบประมาณ 10- 100 ล้านบาท ต้องแจ้งให้นายกฯรับทราบ งบประมาณ 100 ล้านบาทให้นำเข้า ครม. เป็นการรวบอำนาจอยู่ที่คนคนเดียว ไม่มีการตรวจสอบ และไม่มีการรายงานให้ประชาชนทราบ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ผลที่ออกมาเห็นว่า การใช้งบกลางจำนวนมากไม่ได้สร้างความสุขให้ประชาชน ไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเท่าที่ควร ควรจัดงบกลางให้เล็กและจัดให้ท้องถิ่นที่รู้ปัญหาดีได้ใช้ จึงขอตัดงบกลาง 10 %
หลายโครงการควรจัดสรรไปยังหน่วยงานที่เหมาะสม
ขณะที่ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอตัดงบกลางลง 5 % เนื่องจากพบว่า มีการตั้งงบกลาง 5.9 แสนล้านบาท พบว่าหลายโครงการควรจัดสรรไปยังหน่วยงานที่เหมาะสม เช่น เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ
เมื่อเทียบงบกลาง 5.9 แสนล้านบาทกับงบลงทุน 6.5 แสนล้านบาทถือว่าสูงมาก ซึ่งการทำงบประมาณเช่นนี้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงตรวจสอบยากเพราะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองของฝ่ายนิติบัญญัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พิธา" ขอปรับลดงบฯปี 65 ลง 1 แสนล้านบาท เหลือ 3 ล้านล้านบาท
ร้อง ส.ส.ก้าวไกล ถูกคุกคามก่อนร่วมชุมนุม
จับตาพิจารณา งบประมาณปี 65 วาระ 2-3