วันนี้ (19 ส.ค.2564) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในช่วงบ่าย เป็นการพิจารณามาตรา 12 งบประมาณในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วงเงิน 21,411,133,800 บาท ในชั้นกรรมาธิการมีการปรับลดลง 38 ล้านบาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายขอตัดลดลงร้อยละ 10 เพราะขาดการทำงานเชิงรุกไม่เห็นผลงาน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจาก COVID-19 แต่ไร้การส่งเสริมด้านสวัสดิการทางสังคม นอกจากนี้ การนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้กับประชาชนไม่ตอบโจทย์กับปัญหาและความต้องการและไม่ทั่วถึง
ขณะที่โครงการเคหะสุขประชาของการเคหะแห่งชาติ งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย ไม่โปร่งใส มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งได้ไปยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีให้หัวหน้าประชาธิปัตย์ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในโครงการเคหะสุขประชา เรื่องยังคาอยู่ ซึ่งเตรียมจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แต่ยังรอรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร
ขอเตือนสติรัฐบาล ทำอะไรก็แล้วแต่มีจิ้งจกตุ๊กแกร้อง ฟ้ามีตา เราเป็นสมาชิกสภาฯเหมือนกัน ไม่ถึงเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการเตือน ตรวจสอบด้วยระบบนิติบัญญัติ และตุลาการ
ด้าน นางมุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น เด็กติดโควิดหลายหมื่นคน ไร้คนดูแล จึงอยากให้ตัดงบอบรมสัมมนามาช่วยเหลือในส่วนนี้แทน
สำรวจล่าช้า เด็กกำพร้าจากโควิด
ส่วนนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายขอตัดลดงบฯ พม. ร้อยละ 5 หรือ 1 พันล้านบาท จาก 2.1 หมื่นล้านบาท โดยตัดงบฯ พัฒนาบุคลากรและหลักสูตรต่าง ๆ เพราะใช้วิทยากรกลุ่มเดิมมาตลอดหลายปี, คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เคยมีมติ 2 รอบแล้วว่าถึงเวลาต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า แต่ไม่มีการรับตอบจากรัฐบาลและไม่นำโครงการนี้เป็นหลัก จึงตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของบอร์ด กดยช.
นอกจากนี้ เมื่อถามว่ามีเด็กกำพร้าจากโควิดจำนวนเท่าใด อธิบดีกรมกิจการเด็กฯ ให้สัมภาษณ์วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าเพิ่งส่งข้อมูลมา 15 จังหวัด มีเด็กกลุ่มดังกล่าว 35 คน แต่อังกฤษวิเคราะห์ว่าไทยมีเด็กกำพร้าจากโควิดอย่างน้อย 350 คน กระทั่งวันที่ 16 ส.ค. ก็ยังตอบจำนวนที่แน่ชัดไม่ได้ จึงขอตัดงบฯ สำรวจฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก
ยืนยันปรับลดงบฯ อบรมสัมนาแล้ว
ด้านนายวิเชียร ชวลิต กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก กล่าวว่า ในปี 2564 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้รับงบ 1.8 ล้านบาท และในปี 2565 ได้เพิ่มขึ้น เป็นงบ 2.1 ล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมา คือ เงินอุดหนุนดูแลเด็ก ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้รับการจัดสรรกว่า 17,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีงบเหลือ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่เป็นงบดำเนินกิจกรรม กรรมาธิการพิจารณางบประมาณมาโดยละเอียดแล้ว จึงขอยืนยันตามร่างแก้ไข
หากเห็นตัวเลขและสัดส่วนที่ปรับเพิ่ม จะเห็นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะงบฯ อบรมสัมมนา มีการตรวจสอบ และปรับลดในสถานการณ์ COVID- 19 เท่าที่จำเป็นก็มีการปรับลดมาแล้ว ดังนั้น ประเด็นที่เป็นห่วงสามารถตรวจสอบได้ว่า มีการระบุไว้ในข้อสังเกต สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ ลงมติ 242 ต่อ 69 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 ยืนตามที่กรรมาธิการปรับแก้มา