วันนี้ (19 ส.ค.2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในมาตรา 14 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 34,684,924,600 บาท ขณะที่ กมธ.พิจารณาปรับลดงบฯ 205,500,000 บาท
โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติ 232 ต่อ 111 เสียง เห็นด้วยกับการตัดงบฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่ กมธ.ฯ เสนอ
"เบญจา" เสนอยุบ-ควบรวมกรมหม่อนไหม
ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวมี ส.ส.อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนตัดงบประมาณกระทรวงเกษตรฯ ลง 20% โดยเฉพาะในส่วนของกรมหม่อนไหม โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเป็นหน่วยงานระดับกรม เนื่องจากกิจการหม่อนไหมเป็นตลาดเฉพาะ ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับกิจการไหมไทย อีกทั้งยังสนับสนุนงานหัตถศิลป์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม
กรมหม่อนไหม ควรมีสถานะเป็นสังกัดภายใต้กรมอื่น หรือควบรวมกับกรมปศุสัตว์
น.ส.เบญจา กล่าวอีกว่า งบประมาณ 506 ล้านบาทที่กรมหม่อนไหมได้รับ ซึ่งกว่า 60% หรือประมาณ 316 ล้านบาท เป็นงบฯ บุคลากร เงินเดือน ค่าล่วงเวลา รวมถึงค่ารถประจำตำแหน่ง ซึ่งหากมีการยุบ ควบรวมกรม แล้วถ่ายโอนหน่วยงานไปไว้กับหน่วยงาน หรือกรมที่มีความเกี่ยวข้องที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน จะลดงบฯ ลงได้อย่างน้อย 20%
ส่วนงบที่ไว้ดำเนินกิจการเหลืออยู่ 190 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 65 ล้านบาทเป็นค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าเช่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจัดอบรม จัดนิทรรศการ ส่วนอีก 37 ล้านบาทเป็นค่าวัสดุการเกษตร สุดท้ายงบฯ ที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรจริงๆ เหลือเพียง 40 ล้านบาท
"จุลพันธ์" ชงหั่นงบฯ อำนวยความสะดวก ขรก. 1,700 ล้านบาท
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปรับลดงบฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5% โดยระบุว่า การดูแลเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ขณะนี้ราคาตกต่ำรุนแรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้วางแผนรองรับล่วงหน้า แต่กลับมาแก้ไขภายหลัง จึงกลายเป็นภาระของงบฯ ในส่วนอื่น
เสนอปรับลดในส่วนที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกของทางราชการทั้งหมด 1,700 ล้านบาท เพราะไม่สมควรได้รับความสะดวกสบาย หากยังมีความบกพร่องในการดูแลเกษตรกร
นายจุลพันธ์ ยืนยันความจำเป็นที่ต้องเสนอปรับลดเพิ่มเติมอีก 5% เนื่องจากการปรับลดงบประมาณของ กมธ.ในครั้งนี้ มองไม่เห็นว่าจะทำให้อนาคตของเกษตรกรดีขึ้นได้อย่างไร
"ภราดร" ขอกรมชลฯ ดูแลน้ำเขตราบลุ่มภาคกลาง
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน โดยระบุว่า การบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ของชลประทานไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดการน้ำในเขตพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท 60-70 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานให้เหตุผลว่าเพื่อไล่น้ำเค็มที่ กทม. แต่ขณะนี้พื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยามีฝนทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำในปริมาณที่มากขนาดนี้
ขณะเดียวกันน้ำที่นำเข้าสู่ระบบชลประทานเพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก ปล่อยไม่ถึง 50 ลบ.ม.ต่อวินาที น้อยกว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยทิ้งเพื่อไล่น้ำเค็ม
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ต้องบริหารจัดการน้ำให้กับเกษตรกรเช่นกัน โดยมีความจำเป็นต้องทำฝนเทียม เพื่อช่วยให้มีปริมาณน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกต่อไปได้ จึงฝากให้ กมธ.ส่งต่อให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"จิรัฏฐ์" อภิปรายงบฯ กต. ขอปรับลด 10%
สภาฯ ซัดกองทัพจัดงบฯ กลาโหม "ปชช.ต้องการวัคซีน ไม่ใช่กระสุน"