วันนี้ (19 ส.ค.2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในมาตรา 19 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานในกำกับ 3,752,940,300 บาท ต่อมาที่ประชุมฯ มีมติ 249 ต่อ 114 เสียง เห็นด้วยกับการตัดงบฯ ของกระทรวงพาณิชย์ ตามที่ กมธ.ฯ เสนอ
ทั้งนี้ ในประเด็นการพิจารณางบฯ กระทรวงดังกล่าว มีสมาชิกฯ อภิปรายจำนวนมาก โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย เสนอปรับลดงบฯ 7% ของกระทรวงพาณิชย์ เพราะจัดงบฯ ไม่ตอบสนองโจทย์และภาวะปัญหาของประเทศในขณะนี้ ส่วนเรื่องร้าน "ธงฟ้า" ขอให้ท้องถิ่นนำสินค้า OTOP ไปขายได้และอย่าเก็บค่าเช่า เพื่อกระจายสินค้าในท้องถิ่น
ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศ ควรนำ SME ของไทยไปเปิดในตลาดต่างประเทศ ส่วนกรมการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ตั้งเป้าหมายการทำ FTA ในปี 65-66 เพราะส่งผลถึงการส่งออก เปรียบเทียบกับเวียดนามที่ส่งออกได้ดี โดยเฉพาะข้าว เนื่องจากเวียดนามทำ FTA กับหลายประเทศมากกว่าไทยหลายเท่า
ส่วนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการ กล่าวว่า ขอปรับลดงบฯ 500 ล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำมาก จนเกษตรกรถามว่าตกลงจะประกันรายได้เท่าใดให้เกษตรกร และตั้งคำถามว่ามีแผนแก้ไข ช่วยเหลือชดเชยราคาลำไยตกต่ำแล้วหรือไม่
สินค้าเกษตรตกต่ำ สวนทางราคาต้นทุน
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย เสนอปรับลดงบฯ 5% หรือ 180 ล้านบาท เนื่องจากความล้มเหลวในการดูแลเกษตรกร โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งต้นทุนต่าง ๆ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ขึ้นราคากว่าเท่าตัว และกลไกการตลาดมีปัญหา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยล้งอย่างน้อย 50 แห่งปิดรับซื้อลำไย อ้างส่งสินค้าไปจีนไม่ได้ แต่เป็นกลไกไม่ให้สินค้าไทยไปตีตลาด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีแผนรองรับ กระทบเกษตรกร พร้อมเรียกร้องดูแลราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ นอกจากพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด
ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ลำไยเหลือกิโลกรัมละ 3-4 บาท
ราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรเดือดร้อนหนัก
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสนอปรับลดงบประมาณกระทรวงพาณิชย์ ลง 2% เนื่องจากผลงานในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสินค้าการเกษตรตกต่ำน่าผิดหวัง โดยปีนี้ได้รับการจัดสรรไปกว่า 3,600 ล้านบาท หากกระทรวงพาณิชย์ทำงานมีประสิทธิภาพ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้คงจะลดลง
โครงการหลัก คือ โครงการประกันรายได้ เป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากการขายผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ 15,000 บาท ข้าวหอมปทุม 11,000 บาท ข้าวขาว 10,000 บาท โดย 2 ปีที่ผ่านมา เคยได้ยินเกษตรบอกหรือไม่ว่าขายได้ 15,000 หมื่นนบาท ซึ่งเป็นความผิดหวังและอยากสะท้อนเสียงความเดือดร้อนไปยังกระทรวงพาณิชย์ ให้รับทราบและปรับปรุงการทำงานและแก้ไขการใช้งบประมาณในปีนี้
เหตุผลของการตั้งราคาประกันรายได้และเกษตรกรไม่ได้ราคาตามนั้นคือ 1.ความชื้นและการกำหนดคุณภาพของข้าว เพื่อให้ได้ของดีไปขายต่อต่างประเทศ ซึ่งในการขายข้าวจริง เมื่อเกษตรกรไปถึงโรงสีก็ต้องขายตามราคาข้าวและค่าความชื้นที่โรงสีแจ้ง ซึ่กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน พาณิชย์จังหวัด เคยไปตรวจสอบการเอารัดเอาเปรียบที่หน้าโรงสีหรือไม่ ฝากให้ไปช่วยดูเพื่อลดการเอารัดเอาเปรียบและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
ขณะที่การกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามสูตรโครงการประกันรายได้ โดยข้าวหอมมะลิ เฉลี่ยผลผลิต 360 กก./ไร่ ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 610 กก.ต่อไร่ ข้าวหอมปทุม เฉลี่ย 680 กก./ไร่ ตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ จ.อ่างทอง ในเขตชลประทาน ผลผลิตเฉลี่ย 900- 1,000 กก./ไร่ แต่รับเข้าโครงการ 600 กก./ไร่ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องไปทบทวน
นอกจากนี้ ยังทราบว่า รมว.พาณิชย์ เตรียมที่จะเสนอโครงการประกันรายได้ปีที่ 3 ให้กับคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่ออนุมัติหลักการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อออกเป็นนโยบายไปช่วยเหลือประชาชนต่อในปีที่ 3
ขอว่าอย่าทำเหมือนเดิมได้หรือไม่ ผ่านมาแล้ว 2 ปี ทราบดีว่าโครงการประกันรายได้มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ถ้าทำเหมือนเดิมแสดงว่าท่านมองข้ามสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับเงินโครงการประกันรายได้อย่างที่รัฐบาลต้องการอยากจะเห็น
นายกรวีร์ ยังกล่าวว่า หวังว่าการปรับลดงบประมาณจะเป็นเสียงสะท้อนแทนเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน สินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปุ๋ยแพงขึ้น น้ำในการทำนาหายากขึ้น เมื่อทำออกมาสินค้าการเกษตรก็ราคาตกต่ำ คาดหวังอยากเห็นการช่วยเหลือ ต้องคิดวิธีการว่าทำอย่างไรให้เขารวย ให้เขามีเงิน เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ได้ รัฐบาลอยู่ได้ สภาฯ แห่งนี้ก็อยู่ได้