พันธมิตรใหม่ของอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของกลุ่มตอลีบาน คงหนีไม่พ้นจีน หลังจากผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสหารือกัน เพื่อยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งดูเหมือนการจับมือกันระหว่างกลุ่มตอลีบานกับจีนจะตั้งอยู่บนปัจจัยทางเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก
จีนหวังพึ่งอัฟกานิสถาน ในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่อัฟกานิสถานหวังพึ่งจีนในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ
ความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ในสมรภูมิอัฟกานิสถาน ถือเป็นการเปิดทางให้จีนได้เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัว โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แสดงความเชื่อมั่นว่า กลุ่มตอลีบานจะไม่ทำผิดซ้ำรอยอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน
แม้ว่าจีนจะยังไม่ให้การยอมรับตอลีบาน ในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ แต่ภาพการพบกันระหว่าง มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตอลีบาน กับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่นครเทียนจิน ช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ของ 2 ฝ่ายได้เป็นอย่างดี
ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน
หลายฝ่ายมองว่า การกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างตอลีบานกับจีน เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน พรมแดนบริเวณนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 76 กิโลเมตร เนื่องจากอัฟกานิสถาน อาจจะกลายเป็นสถานที่พักพิงให้สมาชิกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอุยเกอร์
โดยนักรบในกลุ่มนี้ อาจใช้ประโยชน์ของที่ตั้ง เข้ามาก่อเหตุในซินเจียง บั่นทอนเสถียรภาพของจีน
การจับมือกันจะทำให้จีน มีทั้งคนคอยดูแลหลังบ้าน และช่วยขยายเครือข่ายเส้นทางการค้า เนื่องจากที่ตั้งของอัฟกานิสถาน แวดล้อมไปด้วยโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ของจีน
ขณะที่กลุ่มตอลีบาน ได้พึ่งพิงขาใหญ่ของโลก ให้ได้รับการยอมรับบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โฆษกกลุ่มตอลีบาน ย้ำว่าจีนมีบทบาทสร้างสรรค์ในการสร้างสันติภาพและการช่วยฟื้นฟูประเทศ
ซาอุดิอาระเบียแห่งลิเธียม
การจับมือของทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงโดยตรง ท่าทีฉันท์มิตรของจีนมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์และเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจในอนาคต อัฟกานิสถานมีแร่หายากจำนวนมาก แต่ความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้แร่เหล่านี้ไม่ถูกนำมาใช้
เอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรียกอัฟกานิสถานว่า ซาอุดิอาระเบียแห่งลิเธียม ลิเธียมเป็นแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่ต้องการของโลกยุคนี้อย่างมาก
ส่วนแร่หายาก หรือ Rare Earth ในอัฟกานิสถาน อาจมีมูลค่าตั้งแต่ 1-3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรื่องนี้นำไปสู่ข้อเสนอให้นานาชาติกดดันจีน ไม่ให้ฉวยโอกาสรวบผลประโยชน์ ในอัฟกานิสถาน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 จีนเคยได้สัมปทานเหมืองและสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอัฟกานิสถาน แต่สุดท้ายโครงการเหล่านี้ไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย
เชื่อว่าการเข้าไปลงทุนในอัฟกานิสถานครั้งนี้ จีนคงทำการบ้านและถอดบทเรียนมาเป็นอย่างดี