ถ้าประเมินคร่าว ๆ จากฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เป็นอยู่ หรือนับจากนี้ที่มีการนัดรวมตัวกันทุกวันที่สามเหลี่ยมดินแดง หรือจะเป็นแคมป์เปญ "คาร์-ปาร์ก" ที่นัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศ 29 ส.ค.นี้ ยังไม่เป็นผลต้องประกาศใช้ "กฎอัยการศึก" หรือการนำกำลังทหารออกมาควบคุมสถานการณ์
แต่ไม่ปฏิเสธถึงการเตรียมความพร้อมที่จะใช้กำลังทหาร เมื่อสถานการณ์มีปัจจัย-เงื่อนไข เสี่ยงต่อความรุนแรงบานปลายจนกลายเป็นเหตุจลาจล
ขณะเดียวกันถ้าจับสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้มีอำนาจประกาศใช้ "กฎอัยการศึก" ก็ทำให้ต้องขบคิดเช่นกัน
"กฎอัยการศึก" ถือเป็นกฎหมายพิเศษ "ระดับยาแรง" ด้วยเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมเหตุความวุ่นวายของบ้านเมือง ด้วยการใช้กำลังทางทหารเข้าระงับยับยั้งแบบเบ็ดเสร็จ เป็นกฎหมายที่เปิดทางให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจบังคับใช้ แต่ต้องประชุมร่วมกับ ครม.ขณะที่ผู้บัญชาการฝ่ายทหารในพื้นที่ เมื่อประกาศแล้วไม่ต้องผ่าน ครม.จึงนับเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อฝ่ายทหารอย่างมากแต่การประกาศใช้ก็ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมเพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อมิติด้านอื่น
สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ที่ชี้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้คุม COVID-19 เพียงพอต่อการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พร้อมตั้งข้อสังเกต พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมโควิด แต่คำสั่ง-ข้อกำหนด หลายเรื่องเชื่อมโยงกับการเมือง
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะมีเหตุจาก COVID-19 แต่ประกาศ คำสั่ง ที่ออกมาสะท้อนความเกี่ยวโยงทางการเมืองและการประกาศใช้ที่ไม่เคยขาดตอน
การประกาศกฎอัยการศึกส่วนใหญ่ เกิดขึ้นควบคู่กับการรัฐประหารแต่ในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจฝ่ายทหารประกาศกฎอัยการศึก ก่อนยึดอำนาจรัฐบาล
แต่ขณะนี้เงื่อนไข-ปัจจัย แตกต่างออกไป และสถานการณ์ COVID-19 ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล และอาจเป็นตัวเร่งให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา