วันนี้ (22 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ 3 ตอนต่อเนื่อง กับการแจกแจงเหตุผลของว่า ทำไมชุดตรวจหาเชื้อ COVID-19 หรือ ATK ด้วยตัวเอง ต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากชุดตรวจแบบนี้ต้องมีความแม่นยำ และผ่านการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงในสนาม อีกทั้ง ต้องเปรียบเทียบกับผลที่ตรวจได้ กับการตรวจแบบ RT-PCR ด้วย
จากการเก็บข้อมูลของทีมแพทย์ชนบท ที่มีการใช้จริง กว่า 2 แสนตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร พบว่า ATK มาตรฐาน มีความแม่นยำกว่า ชุดตรวจของ "เล่อผู่" ซึ่งมีผลงานวิจัยจากประเทศปากีสถาน ระบุว่า ไม่แม่นยำ
ขณะนี้ ชุดตรวจที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ที่เรียกว่า Emergency Use Listing หรือ EUL มี 4 รายการ ไม่มีการแยกว่า เป็นใช้ตรวจเอง ที่บ้าน หรือใช้ตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ สามารถใช้ได้ทั้ง 2 กรณี แตกต่างเพียงขนาดความยาวไม้สว็อปที่ไม่เท่ากัน แต่คุณภาพอื่นต้องเหมือนกันทั้งหมด
"อนุทิน" ยันไม่มีการล็อกสเปกชุดตรวจ ATK
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ยืนยัน การประมูลชุดตรวจดวยตัวเองหรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ขององค์การเภสัชกรรม ไม่มีการล็อกสเปกแน่นอน เป็นเรื่องที่ คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม พิจารณา
ก่อนหน้านี้นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานบอร์ด อภ.ระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้การจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก
มีรายงานข่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นไปได้ว่า จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายชุดตรวจยี่ห้อ "เล่อผู่" เนื่องจาก อภ.ไม่สามารถยกเลิกการประมูล เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ เพราะอาจจะถูกบริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด ฟ้องร้อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาเภสัชฯ จัดระบบ "ร้านยา" กระจาย ATK ให้กลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดเอง
ออสท์แลนด์ฯ แจงนายกฯ TOR ไม่ระบุ ATK ต้องผ่านรับรอง WHO