การตรวจสอบพื้นที่จนพบร่องรอยในคดีฆาตกรรมมากกว่า 20 จุด ทำให้ป่าบ้านคำบอนเวียงชัย ใน ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า "สุสานบ้านผือ" นี่คือสถานที่เกิดเหตุคดีเผานั่งยาง จนเคยทิ้งร่องรอยไว้ไม่น้อย
ผลตรวจสอบที่เกิดเหตุในอดีต พบกระดูกที่รวบรวมจากจุดเผานั่งยาง สภาพป่า สภาพเศษลวด และร่องรอยที่เหลือ คาดการณ์ว่า เป็นวัตถุจากเหตุการณ์ต่างระยะเวลา สะสมในพื้นที่เป็นเวลานาน
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ยืนยันว่าตำรวจเกี่ยวข้องในคดีลักษณะนี้ คือการปรากฏ ตัวของ "ดารา พาไสย์"
กรณีถูกออกหมายจับพัวพันค้ายาเสพติด อ้างว่าถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรน้ำโสม 4 นาย อุ้มไปรีดไถเงิน 560,000 บาท พร้อมขู่ฆ่าเผานั่งยาง
คดีของ "ดารา พาไสย์" ปรากฏ คำตัดสินของศาลในท้ายที่สุด ไม่มีความผิดในข้อหาค้ายาเสพติด ระหว่างเส้นทางในคดี "ดารา พาไสย์" อ้างว่าถูกข่มขู่โดยตำรวจถึงเรือนจำ นี่คือตำรวจคนเดียวกันกับที่เชื่อมโยงไปถึงอีกหนึ่งคดีความในพื้นที่
คดีเผานั่งยาง "บังอร ทองอ่อน" ชาวตำบลดงบัง อ.บ้านผือ เมื่อปี 2557 เป็นคดีเดียวในพื้นที่สุสานบ้านผือที่ปรากฏ หลักฐานในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ตำรวจพบว่ารถกระบะที่คาดว่า เป็นพาหนะสุดท้ายของผู้ตาย เป็นรถของ ด.ต.ที่เข้าข่มขู่เอาชีวิต "ดารา พาไสย์" ถึงเรือนจำ นี่คือคดีตัวอย่างที่ถูกพูดถึงในฐานะคดีที่มีตำรวจเกี่ยวพัน พบการข่มขู่ รีดไถ และฆาตกรรม
อีกคดีที่พบตำรวจเกี่ยวข้องและอยู่ในความสนใจของสาธารณะไม่น้อย คือคดีอุ้มฆ่าแม่ลูกตระกูล "ศรีธนะขัณฑ์" มี พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจและคณะเป็นผู้ลงมือ ก่อเหตุอุ้ม นางดารวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขันธ์ เป็นตัวประกันเพื่อกดดันให้นายสันติ ศรีธนะขันธ์ ให้เปิดเผยข้อมูลในคดีเพชรซาอุ
วิธีที่ปรากฏ ในกระบวนการสอบสวนก่อนจะลงมือฆาตกรรมแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ จัดฉากให้เหมือนคดีอุบัติเหตุ และเป็นเรื่องราวในอดีตที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์วิธีการทำงานของตำรวจบางกลุ่มว่า เกินกว่าเหตุ และผิดต่อหลักการ
ไม่ว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏ ทั้งการลักพักตัว ข่มขู่รีดไถทรัพย์ หรือเพื่อเจตนาอื่นไปจนถึงการฆาตกรรม คดีตัวอย่างเหล่านี้มักถูกหยิบยกไปพูดถึงบ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นคดีสะเทือนขวัญ เป็นเหตุฆาตกรรมที่มีตำรวจเป็นผู้ลงมือ