หากย้อนเส้นทาง 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งแรงต้านจากการเมืองนอกสภา และแรงกดดันภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันมาตลอดว่า ไม่ท้อแท้ และไม่ลาออก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ที่สถานการณ์ต่างๆ รุมเร้า ท่ามกลางกระแสที่ตอกย้ำว่า อยู่ในช่วงขาลงของรัฐบาลหรือไม่
สะท้อนจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การรับมือวิกฤต COVID-19 รอบใหม่ กรณีเชื้อกลายพันธุุ์ที่ล่าช้าเกินไป นำมาสู่การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย และการกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง เกิดคำถามถึงความไม่โปร่งใส และเหลื่อมล้ำ
ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคะแนนนิยม และความเชื่อมั่นศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ตามการวิเคราะห์ของ รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มสธ. ชี้ว่า หากความเดือดร้อนของประชาชนขยายวงกว้างอาจนำไปสู่การชุมนุมที่ไม่แบ่งขั้วทางการเมือง
ก่อนหน้านี้การชุมนุมเป็นเรื่องของขั้วการเมือง แต่ระยะหลังมีเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนมาเกี่ยวข้อง
อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นขึ้นสู่อำนาจจากเหตุรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านรัฐประหาร รวมถึงเสียงวิจารณ์ต่อภาวะผู้นำ
แต่พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าแรงต้านเหล่านีัด้วยความชอบธรรมจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และเป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาฯ มากที่สุด
ยังไม่นับกองหนุนจากฝ่ายทหาร ทั้งในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องสายเลือดโรงเรียนนายร้อย จปร. และในฐานะ รมว.กลาโหม แต่กองหนุนที่เหนียวแน่นที่สุดคือรัฐมนตรีร่วม ครม.ประยุทธ์ ตั้งแต่รัฐบาล คสช.
โดยเฉพาะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คีย์แมนคนสำคัญที่ขยายฐานอำนาจจากวงการทหารตำรวจ สู่การเมืองเต็มตัว ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
จนถึงวันนี้จึงคาดว่า หากไม่มีเงื่อนไขทางการเมือง จนต้องยุบสภา-ลาออก พล.อ.ประยุทธ์น่าจะยังประคับประคองรัฐนาวานี้ จนครบวาระ และส่งต่อภาระหน้าที่ให้รัฐบาลชุดต่อไป ด้วยเจตนารมณ์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องการปูทางให้สำเร็จ