วันนี้ (30 ส.ค.2564) ผศ.ทพ.สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร ผอ.โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาสูตรนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปาก ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ได้ผลถึง 99 % หลังการบ้วนปาก
โดยน้ำยาบ้วนปากที่พัฒนาขึ้น เป็นต่อยอดจากน้ำยาบ้วนปากสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปากจากสารสกัดธรรมชาติข้าวไทย และตอนนี้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในนามของสถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหิดลแล้ว
ผลโรงพยาบาลทันตกรรม กล่าวว่า น้ำยาบ้วนปาก ที่พัฒนาขึ้น พบว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยจากการปลอดเชื้อให้กับผู้ป่วย โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่อเยื่อบุภายในช่องปาก และคาดว่าจะช่วยปรับระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้
ภาพ:คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล
ได้ผล 99% ลดการแพร่เชื้อ COVID-19
ด้าน รศ.ดร.ทญ.ศรัญญา ตันเจริญ หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ ส่วนผสมสำคัญคือได้มีการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย ร่วมกับองค์ประกอบที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก
จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการในเซลล์เส้นใยเหงือกของมนุษย์ จนเห็นผลจริงในผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล
นวัตกรรมดังกล่าว ช่วยยับยั้งการแพร่กระจาย COVID-19 ได้มากกว่า 99.9 % เช่น ถ้ามีปริมาณเชื้อประมาณ 100,000 ตัวหากใช้น้ำยาบ้วนปากที่คิดค้นขึ้นนี้ จะทำให้เหลือเชื้อ COVID-19 ที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 41 ตัว เมื่อเทียบกับการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดอื่น
นักวิจัย กล่าวอีกว่า จุดเด่นของน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ที่คิดค้นขึ้นนี้ คือ ความสามารถในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ด้วยโดยจะไปทำลายไขมันที่หุ้มตัวเชื้อไวรัส ทำให้ขาดองค์ประกอบที่จะเพิ่มจำนวนต่อไปได้
เตรียมใช้กับรพ.สนาม-เรือนจำ
นอกจากนี้ ยังไม่ทำให้เกิดการติดสีที่วัสดุตัวฟันของผู้ป่วย จัดเก็บได้นานเกิน 1 ปี ในอุณหภูมิห้องยังสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ได้เช่นเดิม
ที่สำคัญใช้เวลาในการบ้วนปากเพียงไม่ถึง 1 นาทีด้วย ดังนั้นจึงมีแผนจะนำไปใช้ตามโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ในช่วงวิกฤต COVID-19 และในสถานที่ซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงต่อการรักษาระยะห่าง เช่น ทัณฑสถาน และค่ายทหาร
สำหรับทีมวิจัยร่วม มีดังนี้ รศ.ดร.ทญ.ศรัญญา ตันเจริญ หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี และ ผศ.อกนิษฐ์ จิตต์มิตรภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาและอิมมิวโนโลยีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล