ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปานเชียร์ : สมรภูมิสุดท้ายยึดอัฟกานิสถาน

ต่างประเทศ
6 ก.ย. 64
19:22
617
Logo Thai PBS
ปานเชียร์ : สมรภูมิสุดท้ายยึดอัฟกานิสถาน
แม้กลุ่มตอลีบานจะยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน แต่ จ.ปานเชียร์ เป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ยังไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มตอลีบาน ล่าสุดกลุ่มตอลีบานอ้างว่าได้รับชัยชนะเหนือหุบเขาปานเชียร์ ขณะที่กลุ่มต่อต้านระบุว่าข้ออ้างของกลุ่มตอลีบานไม่เป็นความจริง

วันนี้ (6 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หุบเขาปานเชียร์ถูกพูดถึงในฐานะปราการด่านสุดท้ายของกลุ่มต่อต้านตอลีบาน แต่อนาคตของปานเชียร์กำลังอยู่บนทาง 2 แพร่ง หลังกลุ่มตอลีบานอ้างชัยชนะ

โดยมีการเผยแพร่ภาพสมาชิกกลุ่มตอลีบานชักธงของกลุ่มขึ้นสู่ยอดเสา หน้าสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดปานเชียร์ พร้อมทั้งประกาศว่ารัฐบาลท้องถิ่นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถานแล้ว

โฆษกกลุ่มตอลีบาน ระบุว่า ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากหล่มแห่งสงครามโดยสมบูรณ์

ขณะที่ทวิตเตอร์ของแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติ ยืนยันว่า การกล่าวอ้างของกลุ่มตอลีบานไม่เป็นความจริง โดยการต่อสู้กับกลุ่มตอลีบานและพันธมิตรจะเดินหน้าต่อไป จนกว่าความยุติธรรมและเสรีภาพจะมีชัยในที่สุด

ผู้มีบทบาทสำคัญของแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติ คือ อาห์หมัด มาซูด วัย 32 ปี บุตรชายของอาห์หมัด ชาห์ มาซูด เจ้าของฉายาราชสีห์แห่งปานเชียร์ และเคยเป็นผู้บัญชาการการรบของกลุ่มมูจาฮีดีนในการต่อสู้กับอดีตสหภาพโซเวียต โดยอาห์หมัด ชาห์ มาซูด ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 เพียง 2 วันก่อนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน

ปานเชียร์เป็นจังหวัดหนึ่งของอัฟกานิสถาน มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 150,000 - 200,000 คน หุบเขาปานเชียร์ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของอัฟกานิสถานไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร

 

สภาพทางภูมิศาสตร์ของหุบเขาปานเชียร์ มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทอดตัวยาวจากตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ สู่เทือกเขาฮินดูกูช พื้นที่บริเวณนี้ล้อมรอบไปด้วยยอดเขาสูงกว่า 3,000 เมตร จึงไม่ต่างจากป้อมปราการตามธรรมชาติ

ความซับซ้อนของสภาพทางภูมิศาสตร์ของหุบเขานี้ ช่วยเอื้อต่อการซุ่มโจมตีกองกำลังฝ่ายตรงข้าม ยิ่งไปกว่านั้นทางเข้าค่อนข้างจำกัด เป็นอุปสรรคของข้าศึกในการบุกเข้าไปในหุบเขาปานเชียร์เช่นกัน ส่งผลให้กองกำลังต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคยพื้นที่แถบนี้ ถูกนักรบแห่งหุบเขาปานเชียร์ซุ่มโจมตีจนพ่ายไปในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีซากรถถัง เฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์ของอดีตสหภาพโซเวียต เป็นหลักฐานยืนยันความหินของปานเชียร์ได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งช่วงที่ตอลีบานเรืองอำนาจเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ก็ไม่สามารถยึดครองหุบเขาแห่งนี้ได้เช่นกัน

ขณะที่ ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว. มองว่า สภาพที่ตั้งเป็นดาบสองคม ทำให้กลุ่มต่อต้านตอลีบานเพลี่ยงพล้ำ

"สำหรับปานเชียร์ วันนี้ตอลีบานล้อมไว้หมดแล้ว การเข้า-ออกถูกปิดล้อมทั้งหมด คิดว่าการสนับสนุนจากภายนอกยังไม่มากพอ และไม่มีประเทศไหนแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ามาสนับสนุน ขณะที่ชาวอัฟกันก็ไม่ต้องการให้เกิดสงครามกลางเมือง และต้องการให้กลุ่มต่างๆ มาเจรจากัน จึงคิดว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้การขับเคลื่อนการต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านที่ปานเชียร์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก" ผศ.มาโนชญ์ ระบุ

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว หุบเขาปานเชียร์จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตอลีบานโดยสมบูรณ์ โจทย์ต่อไปคือการจัดสรรกองทัพของกลุ่มตอลีบานว่าจะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แกนนำกลุ่มต้านตอลีบานพร้อมเจรจายุติสู้รบ

สหรัฐฯ เตือนตอลีบานปะทะกลุ่มต่อต้าน อาจเกิดสงครามกลางเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง