ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ญาติผู้เสียหายเร่งสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายซ้อมทรมาน

การเมือง
8 ก.ย. 64
11:23
261
Logo Thai PBS
ญาติผู้เสียหายเร่งสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายซ้อมทรมาน
ญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณากฎหมายป้องกันการทรมานและกระทำบุคคลสูญหาย

วันนี้ (8 ก.ย.2564) เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย พร้อมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและตัวแทนภาคประชาชน ทำกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ภายในสมัยประชุมนี้ที่จะปิดประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้

ผู้ทำกิจกรรมได้ชูป้ายรณรงค์ และอ่านบทกวี เล่าถึงเหตุการณ์การถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมสะท้อนความรู้สึกจากญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ก่อนจะอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง หลังชี้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาที่ความล่าช้าและถูกปัดตกไปหลายครั้ง

โดยเครือข่ายญาติผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและอุ้มหายที่ร่วมกิจกรรม เช่น นายซูฮัยมิน ลือแบซา ตัวแทนเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ ตัวแทนกลุ่มโมกหลวง นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพี่สาวของต้า วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไประหว่างพักในกัมพูชา

 

ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาจากเรื่องด่วนเรื่องที่ 9 ให้ขึ้นมาต่อเรื่องที่ 3 หลังจากการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช.เรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่คาดว่าจะพิจารณาได้ในสัปดาห์ต่อไป ซึ่งร่างกฎหมายที่คล้ายกันมี 4 ฉบับ ที่ร่างขึ้นมาอีกและคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาพร้อมร่างของ ครม. เช่น ร่างของกรรมาธิการการกฎหมาย ร่างที่เสนอโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และร่างที่เสนอโดยนายสุทัศน์ เงินหมื่น

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นร่างฯ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เนื้อหาได้อ้างอิงเหตุผลถึงกรณีการทรมานและการกระทำบุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อันไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด

เพื่อยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย จึงสมควรกำหนดฐานความผิดมาตรการป้องกันปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม-ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ 34 มาตรา กำหนดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน และโครงสร้างมีรองประธาน คือปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีดีเอสไอ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด และนายกสภาทนายความ

รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน วาระ 4 ปี เป็นคนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านการแพทย์กับด้านจิตวิทยาอีกด้านละ 1 คน ซึ่งมีอำนาจเสนอความเห็น ครม.ปรับปรุงกฎหมาย กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการป้องกันปราบปรามการทรมาน กำหนดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาผู้รับความเสียหาย วางระบบระเบียบตามกฎหมายฉบับนี้

โดยโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทรมาน ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่จิตใจและร่างกาย เพื่อวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือคำสารภาพจากผู้กระทำหรือบุคคลที่ 3 ลงโทษเพราะเกิดจากความสงสัย ข่มขู่ และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ผู้นั้นกระทำผิดฐานกระทำทรมาน มีโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท ถ้ากระทำผิดเป็นเหตให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส โทษจำคุก 10-25 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และถ้ากระทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย โทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

 

และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดจับ ขัง ลักพา หรือกระทำการให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ผู้นั้นกระทำผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โทษจำคุก 5-15 ปี ปรับ 100,000-300,000 บาท ถ้าทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสโทษจำคุก 10-25 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และถ้าทำให้ถึงความตาย โทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง