วันนี้ (9 ก.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ละคนจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกันและโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยเชื้อจะแพร่กระจายการสูดดมเข้าทางโพรงจมูกไปสู่ปอด จากการไอ จาม เสมหะ หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโควิด-19
ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความรุนแรงของโรคและเชื้ออาจลงสู่ปอดได้ คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรระมัดระวังตนเองมากเป็นพิเศษ เพราะหากเชื้อลงสู่ปอดแล้วอาจส่งผลต่อระบบภายในอื่นๆ ของร่างกายได้
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปอดมีหน้าที่แลกเปลี่ยนของออกซิเจนในเลือด ถ้าผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าเชื้อลงสู่ปอด จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เจ็บแน่นหน้าอก และระดับออกซิเจนในเลือดลดลง หากระดับออกซิเจนในเลือดลดลงมากเกินไป เช่น ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงในส่วนของสมองน้อยลง จะทำให้เกิดภาวะซึม รู้สึกอ่อนเพลีย โดยในเกณฑ์ปกติระดับออกซิเจนในเลือดของร่างกายจะอยู่ที่ระดับ 97-100% (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว)
หากต้องการเช็คอาการว่าโควิด-19 ลงปอดหรือยัง ลองให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินไวในเวลา 6 นาที เพราะการเดินไว 6 นาทีพอเพียงที่จะแสดงความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
เมื่อเกิดความผิดปกติในถุงลมในปอด (Alveoli) จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนของออกซิเจนลดลง ดังนั้นหากมีโรคเกี่ยวกับปอด หรือเชื้อลงปอด จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดน้อยลงกว่าระดับปกติ
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แพทย์จะรักษาตามอาการ และในผู้ที่มีอาการรุนแรงเชื้อลงปอด ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัส หยุดยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มเติมและทำลายเซลล์อื่นๆ นอกจากนี้แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบ เพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป
กรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง มีปอดอักเสบร่วมด้วย และปอดอักเสบมีปัญหาทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ เพราะการนอนคว่ำจะสามารถช่วยให้ปอดขยายได้ดีขึ้น เพราะการนอนคว่ำมีผลทำให้ปอดไม่มีตัวเบียดดัน ปริมาณเนื้อปอดจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวจนหายดีแล้วปอดจะกลับมาเป็นเหมือนคนปกติ
นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้อาการป่วยเบาลง สามารถหายป่วยและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน