วันนี้ (13 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดการประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติ ว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme : MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-17 ก.ย.2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย
ในการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง ในวันที่ 15 ก.ย.2564 โดยมีพื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่จะมีการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021
โดยยกความสำคัญของพื้นที่ ประกอบด้วย สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน ภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศ ในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลาง ที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี
และศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว
พื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่น มีดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสาม ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี
เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
พื้นที่ดอยเชียงดาว มีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง
ในส่วนของการจัดการเชิงพื้นที่ พื้นที่ดอยเชียงดาว มีพื้นที่รวม 85,909.04 เฮกแตร์ หรือ 536,931 ไร่ ซึ่งเป็นการกำหนดเขตเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบกับการบังคับใช้กฎหมาย และการปกครองที่มีอยู่ พื้นที่แกนกลางและพื้นที่กันชนจัดการโดยใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
ในส่วนของพื้นที่รอบนอก การบริหารจัดการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลในอนาคต
การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้า ภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี
และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน เกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วม ทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่นๆ ทั่วโลก และ เป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล