วานนี้ (12 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำคลิปความยาวกว่า 3 นาที เป็นภาพเหตุการณ์ช้างป่าประมาณ 9-10 ตัว บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เข้ามากินโป่งนานกว่า 3 ชั่วโมง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ในคลิปจะเห็นว่าว่าจุดที่มีช้างลงมากินโป่งอยู่นั้นมีนักท่องเที่ยวและช่างภาพจำนวนหนึ่งที่ได้สัมผัสทั้งเสียงร้องของช้างป่าอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้เพจกรมอุทยานฯ ระบุว่าเสียงร้องก้องป่าเรียกได้ว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังพบช้างป่าออกมากินดินโป่งซึ่งใช้เวลาอยู่บริเวณนั้นนานกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องขอบคุณนักท่องเที่ยวทุกท่านที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อยู่ในจุดที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เพื่อความปลอดภัยของตัวนักท่องเที่ยวเอง สำหรับใครที่ไม่ได้ไปในวันนั้นเราก็นำคลิปพร้อมเสียงของช้างป่ามาฝากให้ได้ชมพร้อมกัน
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ตรวจวัดเสียงรถขึ้นเขาใหญ่-ลดสัตว์ป่าตกใจเสียง
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อปฏิบัติของสถานที่นั้นๆ โดยเฉพาะช่วงนี้สัตว์ป่าจะออกมาให้พบเห็นบ่อย หากปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ถูกต้อง เหมาะสม จะทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าและมีโอกาสในการศึกษา เรียนรู้พฤติกรรมจากสัตว์ป่า และถ่ายรูปสัตว์ป่า
กรณีช้างป่าโขลงนี้ ที่ออกมาโป่งบริเวณโป่งทุ่งกวางเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้มีโอกาสดูช้าง ศึกษาพฤติกรรมของช้างอย่างมีความสุข
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการตรวจวัดความดังของเครื่องยนต์ และควบคุมความเร็วของรถยนต์ในพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากสัตว์ป่าได้ยินความถี่ของคลื่นเสียงที่กว้างมาก โดยเฉพาะเสียงรถจักรยานยนต์ที่ปรับแต่งท่อ ปรับแต่งเครื่องยนต์ มีผลทำให้สัตว์ป่าตกใจ
สัตว์ป่าที่ตกใจจากเสียงเครื่องยนต์ เฉพาะพวกเก้ง กวาง ชะมด อีเห็น จะเกิดการตกใจ วิ่งหนีแบบไร้ทิศทาง โดยเฉพาะถนน ซึ่งเป็นที่โล่ง มักจะเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าวิ่งออกมาเป็นประจำ ทำให้เกิดการตัดหน้ารถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อมีรถยนต์สัญจรไปมา
นอกจากนี้ ถ้ามีรถขึ้นมาจำนวนมากจะเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาได้ เบื้องต้น รวมทั้งตั้งจุดเรดาห์ตรวจวัดรถยนต์ที่มีความเร็วเกินกำหนด 60 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งได้ในหลายๆจุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คลายล็อก 10 อุทยานฯ ฮิตคนทะลัก-รายได้ไม่พ่วง KPI
นักท่องเที่ยวแน่น "ผาตรอมใจ" ตามรอยหมีกินไข่เจียว
พลิกโฉมคุม "ช้างป่า" เล็งทำหมัน-ติดปลอกคอคุมเร่ร่อน