วันนี้ (15 ก.ย.2564) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สภาพของโลมาคาดขาวที่นอนตายเรียงรายเกยตื้นอยู่เต็มชายหาด ในขณะที่น้ำทะเลถูกย้อมด้วยเลือดจนกลายเป็นสีแดง กลายเป็นภาพสะเทือนใจและจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากความโหดร้ายของประเพณีเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ย้อนไปไกลถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ของหมู่เกาะแฟโรในแอตแลนติกเหนือ
ระยะเวลาเพียงวันเดียว ชาวเกาะฆ่าโลมาไปมากถึง 1,428 ตัว ซึ่งเชื่อว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1940 ที่ในตอนนั้นมีโลมาถูกฆ่าไปประมาณ 1,200 ตัว ขณะที่เมื่อปีที่ 2563 มีโลมาคาดขาวถูกฆ่าไป 35 ตัวเท่านั้น
โฆษกรัฐบาลท้องถิ่นออกโรงปกป้องประเพณีนี้ว่า การล่าครั้งนี้ผ่านการเตรียมการมาเป็นอย่างดี และเป็นไปตามกฎระเบียบที่มีการกำหนดเอาไว้ นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุนยังมองด้วยว่า ประเพณีดังกล่าวเป็นการหาอาหารตามธรรมชาติด้วยวิธีที่ยั่งยืน และเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวเกาะ
ขณะที่ ซี เชพเพิร์ด กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการล่าวาฬและโลมาทั่วโลก ประณามว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน และเป็นการล่าที่ผิดกฎหมาย โดยนักเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งมองว่าควรใช้โอกาสนี้ ยกระดับการกดดันให้มีการยกเลิกประเพณีในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีโลมาถูกฆ่าจำนวนมากจนน่าตกใจ
ด้านผลสำรวจความคิดเห็นของชาวเกาะแฟโรที่จัดทำโดยสื่อในพื้นที่ ชี้ว่า ประชาชนครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการสังหารหมู่โลมา แต่ 8 ใน 10 คนที่ตอบแบบสำรวจกลับยืนยันว่าควรให้มีการเดินหน้าล่าวาฬต่อไป
ประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีที่เน้นไปที่การล่าวาฬนำร่องเป็นหลัก โดยชาวแฟโรจะใช้เรือต้อนวาฬและโลมาเข้ามาใกล้ฝั่ง ขณะที่ชาวเกาะที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการที่รออยู่ริมฝั่ง จะใช้ฉมวก มีดและเครื่องมืออื่นๆ แทงสัตว์น้ำเหล่านี้จนตายและลากขึ้นฝั่ง ก่อนที่จะชำแหละเพื่อนำเนื้อและไขมันไปแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนไปรับประทาน
ที่มา : AP, AFP, BBC, Reuters