วันนี้ (20ก.ย.2564) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ชักชวนสมัครสินเชื่อออนไลน์และเว็บพนันก่อกวน รวมทั้งโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติ ชวนสมัครสินเชื่อออนไลน์ กู้ได้โดยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว และไม่ได้พูดถึงชื่อบริษัท เมื่อฟังจบแล้วให้รอสายแค่ 5 วินาที ก็สามารถโอนเข้าระบบทำการกู้เงินได้ทันที
ทางผู้ร้องยังไม่ได้รับความเสียหาย แต่กังวลว่าอาจจะพลาดสมัครโดยไม่ตั้งใจได้ เพราะใช้วิธีการที่สมัครง่ายขึ้นเรื่อย ๆ และมีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยีอาจถูกหลอกได้ง่าย และยังก่อกวนสร้างความรำคาญอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนยังไม่ทราบถึงต้นตอที่สินเชื่อออนไลนและเว็บพนันเหล่านี้ได้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มาจากที่ใด เนื่องจากทางผู้ร้องไม่ได้ลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือไว้กับที่ใด และไม่ได้สมัครทำธุรกรรมทางการเงินกับบัตรเครดิตใด ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลมาจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็เป็นได้
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาเรื่องเว็บพนันและสินเชื่อออนไลน์ระบาดในโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีการที่หลากหลาย โดยรูปแบบที่พบบ่อย คือ ข้อความ มักจะเขียนข้อความหลอกลวงให้เข้าใจผิด เพื่อให้ผู้บริโภคกดลิงก์ที่แนบมาต่อท้ายข้อความ เช่น “เงินเดือน 1,000 บาท โอนเข้าบัญชีเรียบร้อย” “คุณถอนเงินสำเร็จแล้ว 1,000 บาท” “เครดิตของคุณดีและคุณมีสิทธิ์ได้รับ 300,000” และยังพบในลักษณะของการโทรศัพท์เข้ามาแบบผู้ร้องเรียนข้างต้น ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเดือดร้อนรำคาญกับมิจฉาชีพในลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะถูกแฮกข้อมูลในโทรศัพท์และสูญเสียทรัพย์ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแต่ละค่ายที่เป็นผู้ตรวจสอบดูแลเป็นหลัก เหตุใดจึงปล่อยให้มีข้อความ หรือโทรศัพท์ในลักษณะแบบนี้เข้ามาถึงผู้ใช้บริการได้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานดูแลและกำกับเรื่องสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม ตรวจสอบบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือให้จัดการไม่ให้มีข้อความ และโทรศัพท์รบกวนในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บพนัน สินเชื่อออนไลน์ รวมทั้งการขายประกัน เนื่องจากเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การปล่อยให้เกิดการกระทำเหล่านี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้บริโภคจึงมีความผิด อีกทั้ง กสทช. ต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่กระทำความผิดดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน 5 อาชญากรรมไซเบอร์ รู้ทันก่อนโดน "แฮก-โกง-หลอก"
กสทช.นัดถกค่ายมือถือแก้ปม SMS ชวนเล่นพนัน 2 มิ.ย.นี้