ความคืบหน้าลักลอบนำสารเคมีมาทิ้งไว้ในพื้นที่บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งพบมีสารอันตรายก่อมะเร็ง และวัตถุไวไฟ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และขยายผลหาตัวผู้ที่ลักลอบนำขยะพิษมาทิ้งและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (23 ก.ย.2564)นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เข้าพบ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อหารือถึงปัญหาขบวนการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากพบปัญหาหลายพื้นที่ ทั้งนี้จะมีการสรุปข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง
ขณะที่การแก้ปัญหาขยะพิษที่บ้านดีลัง จ.ลพบุรี ได้รับรายงานว่า ปลัดเทศบาลตำบลดีลัง ให้ข้อมูลว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ใช้รถแบ็คโฮ ของเจ้าของที่ขุดบริเวณที่ทิ้งกาก จำนวน 3 จุด ลึกประมาณไม่เกิน 2 เมตร พบว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรง จึงต้องยุติการขุดชั่วคราว และมีการเก็บตัวอย่างกากไปวิเคราะห์ พร้อมส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน สภ.พัฒนานิคม
กรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินปริมาณของเสียที่ฝังอยู่จากภาพถ่ายขนาดของบ่อ ว่ามีกากของเสียประมาณ 500 ตัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ดินยังปฏิเสธว่าไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของสารเหล่านี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มลักลอบทิ้งสารเคมี เกี่ยวข้องกับบริษัทรับจ้างกำจัดขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งนำสารเคมีจำพวก ตัวทำละลายสีกาวมาจากโรงงานภาคตะวันออก
โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบข้อมูลโรงงานต้นทางจากทะเบียนรถยนต์ ชื่อคนขับรถที่มีการขึ้นทะเบียนและติดจีพีเอสไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ชี้มีโบรกเกอร์ดิวรับกำจัดขยะพิษจากโรงงานตัดราคา
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมรวมกันหลายประเภทในพื้นที่ต่างๆ ตลอด 10 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นกากที่ออกมาจากโรงงานที่รับกำจัดกากทั้งโรงงานประเภท 101 (กำจัดกากที่อันตราย) โรงงานประเภท 105 (คัดแยกและฝังกลบกากไม่อันตราย) และประเภท 106 (รีไซคิล) เนื่องจากตรวจสอบได้ยาก
โดยจะอ้างว่าได้ฝังกลบอย่างปลอดภัย หรือกำจัดโดยการเผา แต่แท้จริงแล้วได้นำไปทิ้ง และฝังกลบในบ่อดินที่มีการขุดดินไปขาย ซึ่งเป็นที่ดินของเอกชน การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อลดต้นทุน
นายสนธิ ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันมีโรงงานปลายทาง ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานมากขึ้น จึงมีโบรกเกอร์ หรือผู้ประสานงานทั้งทำงานแบบอิสระ และสังกัดโรงงานปลายทางไปติดต่อตกลงราคากับโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากเพื่อรับกากมากำจัด จึงมีการเสนอตัดราคากัน เช่น จากเดิมค่ากำจัดกากอุตสาห กรรมอันตรายราคาตันละ 10,000 บาท แต่บางแห่งลดราคาเหลือต่ำกว่าตันละ 5,000 บาท
คาดการณ์ได้ว่าเอาไปกำ จัดแบบไม่ถูกวิธี หากจับไม่ได้จะทำให้กากอุตสาหกรรมที่ถูกฝังกลบแบบไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตอย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานราชการ จึงต้องกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการของโรงงานประเภท 101 ,105 และ 106 อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะโรงงานที่ถูกร้องเรียนจากประชาชนบ่อยครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดผังจุดลอบทิ้ง-ล้างกากขยะพิษลพบุรีลง "ลำห้วยปู"
แจ้งความ 5 กม.เอาผิดลอบทิ้งกากของเสียบ้านดีลัง จ.ลพบุรี
พบ "ขยะพิษลพบุรี" เป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง-ห่วงปนเปื้อนใต้ดิน
ห้ามย้าย! ถังเคมีลอบทิ้งบ้านดีลัง เกษตรกรห่วงผักเปื้อนสารพิษ
แกะรอยเอกชนลอบทิ้งถังสารเคมีอันตราย 300 ถัง