วันนี้ (29 ก.ย.64) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงสถานการณ์น้ำว่า ขณะนี้กอนช. ติด ตามสถานการณ์น้ำเร่งด่วนแบบรายชั่วโมง หลังจากช่วงกลางเดือนก.ย.ฝนตกหนักจากพายุเตี้๊ยนหมู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างจ
นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการติดตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 43% ของความจุ ส่วนเขื่อนแควน้อย 85% ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มี 83% ของความจุ แต่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่สถานการณ์ที่แม่น้ำปิง สถานี P.16 อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และสถานี P.17 อ.บรรพต พิสัย จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณที่ดีปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงลดลง ส่งผลให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จะเริ่มมีลดลงตามลำดับ แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,245 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะใช้เวลา 1 วันระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น
จุดหลักที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือบริเวณแม่น้ำน่าน เนื่องจากพื้นที่ของ อ.ชุมแสง มีปริมาณฝนตกมาก
อ่านข่าวเพิ่ม "จิสด้า" เปิดแผนที่น้ำท่วมภาคเหนือ-กลาง 816,607 ไร่
ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
คาด 2-3 วันระดับน้ำเจ้าพระยาถึงจุดสูงสุด
ขณะที่สถานการณ์น้ำสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 1-2 วันข้างหน้าแต่จะไม่เกิน 2,820 ลบ.ม.ต่อวินาที ไม่ล้นตลิ่ง เนื่องจากปริมาณสูงสุดอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ดังนั้นบางพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับตลิ่งต่ำอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง
จากแนวโน้มของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่าปริมาณน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 2-3 วัน โดยจะมีการเร่งระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก
ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ผันน้ำออกคลองชัยนาท-ป่าสักทางฝั่งตะวันออก
เลขาธิการสทนช.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ทางฝั่งตะวันออกลงแล้ว เนื่องจากตอนท้ายน้ำมีปริมาณน้ำมากและไม่สามารถระบายน้ำได้ เนื่องจากมีน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์น้ำเข้าวันละ 200 ล้านลบ.ม.และปล่อยออกมาวัน 33 ล้านลบ.ม.ซึ่งไม่สมดุลกัน ต้องระบายน้ำลงมาเพิ่ม
การบริหารน้ำจากเขื่อนป่าสัก จะมีบทบาทสำคัญว่าน้ำจะไหลเข้าพระนครศรีอยุธยา กทม.มากแค่ไหน ซึ่งกรมชลประทาน พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักลง โดยช่วยกักน้ำไว้ รวมทั้งกรมชลประทานจะต้องตัดยอดน้ำก่อนไหลเข้าสู่ จ.ลพบุรี ให้เข้าไปยังคลองระพีพัฒน์ เพื่อช่วยดึงน้ำระบายออกไป
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกทม. ประชาชนเกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำสถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นในอัตรา 2,750 ลบ.ม.ต่อวินาที จากที่เคยออกประกาศไปก่อนหน้าที่ระดับไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที
กอนช.ประสานกรมชลประทานให้ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้เกินอัตรา 2,700-2,800 ลบ.ม.วินาที โดยอีก 1 วันน้ำจะไหลเข้าสู่บางบาล-บางไทร ก่อนเข้าสู่กทม.ภายในวันครึ่ง
ส่วนปริมาณน้ำที่บางบาล-บางไทร ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 ลบ.ม.วินาที ซึ่งไม่มากนัก โดยจะไม่เกิน 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ กอนช.ได้บินตรวจสถานการณ์ เพื่อหาทางระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีปริมาณต่ำที่สุด พร้อมเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็วควบคู่ไปด้วย
ประกอบกับน้ำทะเลอ่าวไทยยังไม่สูงมาก จึงต้องผลักดันน้ำออกและต้องติดสถานการณ์รายชั่วโมงเพื่อให้บริหารจัดการและคุมท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ไม่เกินการควบคุม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
น้ำท่วมชัยภูมิ-โคราช 150,000 ไร่ คลุมพื้นที่เกษตร-แม่น้ำ-ถนน