ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : ขยายผลศูนย์บำบัดวัดท่าพุฯ

อาชญากรรม
29 ก.ย. 64
15:55
487
Logo Thai PBS
The EXIT : ขยายผลศูนย์บำบัดวัดท่าพุฯ
กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามอง เมื่อศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ถูกร้องเรียนถึงความแออัดภายในศูนย์ การใช้ความรุนแรงกับผู้บำบัด รวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน

 

จากการสำรวจพื้นที่วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย  จ.กาญจนบุรี หลังมีเรื่องร้องเรียนประเด็นความแออัด  การใช้ความรุนแรงกับผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด และ เจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน   ทีมข่าว The EXIT พบว่า อาคารเรือนนอนมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ไม่มีหน้าต่าง มีห้องน้ำ 2 ห้อง ทั้งที่มีผู้บำบัดพักอาศัยอยู่ที่นั่นมากกว่า 200 คน

อาคารตั้งอยู่ภายในวัดก่อด้วยอิฐบล็อก  เว้นช่องลมแทนหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท และ ให้ผู้บำบัดสามารถเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้

มีข้อมูลว่า  ขณะเข้ารับการบำบัดที่วัด  ผู้บำบัดสามารถออกมาภายนอกอาคารได้วันละ 1 ครั้งเพื่ออาบน้ำ  ส่วนเวลาที่เหลือต้องอาศัยรวมกันภายในอาคารตลอดทั้งวัน

 

 

เป็นโรคผิวหนังกันหมด เพราะแออัดมาก

หนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัด บอกเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในอาคาร  เขาบอกว่า ทุกคนที่เข้ามาในศูนย์บำบัดแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคผิวหนัง เพราะต้องอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างแออัด เสื้อผ้าที่สวมใส่ซักไม่สะอาด รวมไปถึงห้องน้ำที่มีจำกัด ทำให้บางวันสิ่งปฏิกูลเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่พักอาศัย

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลว่า ภายในศูนย์บำบัดมีการใช้ความรุนแรง หากผู้เข้ารับการบำบัดทำผิดกฏ โดยใช้ เหล็ก ไม้ ทุบตี และให้อดข้าว

ศูนย์บำบัดวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประเภทให้การบำบัดรักษาในชั้นฟื้นฟูสมรรถภาพและชั้นติดตาม เมื่อ พ.ศ.2550 และ ประกาศจัดตั้งสถานพยาบาลประเภทฟื้นฟูสมรรถภาพ เมื่อ พ.ศ.2555 กำหนดให้รับผู้บำบัดยาเสพติดได้ 50 คน และ ต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างน้อย 1 คน ดูแลสุขภาพอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ชั่วโมง  ข้อมูลนี้ต่างไปจากข้อมูลที่ได้จากผู้เข้ารับการบำบัด

 

 

หนึ่งในผู้ดูแลภายในศูนย์ ชี้แจงว่า ความแออัดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยืนยันว่า ไม่มีการใช้ความรุนแรง มีเพียงการลงโทษทั่วไปหากผู้เข้ารับการบำบัดทำผิดกฏ  ส่วนเงินที่ผู้บำบัดต้องจ่ายมีเพียงค่าบำบัด 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท  แต่หากประสงค์จะบวชต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละประมาณ 20,000 บาท 

แต่ผู้บำบัดบางคน บอกว่า ต้องจ่ายเงินเกือบ 50,000 บาท  แบ่งเป็น ค่าเหมารถจากบ้านส่งตัวไปที่ศูนย์บำบัด 15,000 บาท  ค่าเจ้าหน้าที่นำส่ง 20,000 บาท  ค่าบำบัดที่จ่ายให้ทางวัด 12,000 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน  จากการตรวจสอบทะเบียนผู้บำบัดปี 2564 พบว่า มีผู้บำบัดทั้งหมด 247 คน กว่าครึ่งมาจากภาคอีสาน รวม 131 คน ในจำนวนนี้ 74 คนมาจาก จ.ร้อยเอ็ด  รองลงมา คือ จ.กาฬสินธ์ 34 คน และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลางอีก 116 คน

ล่าสุด สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ประกาศปิดศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดวัดท่าพุราษฎร์บำรุง  ขณะที่ ตำรวจ สภ.ด่านมะขามเตี้ย ตรวจสอบกรณีการใช้ความรุนแรง และ จะดำเนินคดีหากพบความผิดตามข้อร้องเรียน    ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินนั้น ตำรวจ สภ.ร้อยเอ็ด ออกมาแถลงยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์แต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง