น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง เนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ยังเกินความจุ จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ที่พาดผ่านเมื่อ 24-26 ก.ย.
ย้อนไปเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว อ่างแห่งนี้มีน้ำกักเก็บเพียง 30 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หลังจากนั้น ฝนเริ่มตกสะสม จนถึง 8 ก.ย.น้ำเต็มความจุ 27.7 ล้าน ลบ.ม.ทางชลประทานได้เริ่มพร่องน้ำหลายช่องทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำสูงสุด
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผอ.สนง.ชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า หาวิธีจะเอาน้ำออก หลายวิธี คือ 1 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 ทำกาลักน้ำ ซึ่งใช้ท่อขนาด 14 นิ้ว จำนวน 15 แถว ได้น้ำวันละหลายแสน ลบ.ม.และมีการเปิดช่องทางพิเศษในคลองระบายน้ำ เปิดช่องเพิ่ม คือตัดคลองให้ไหลเร็วขึ้นจากเดิมวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 2-3 ล้าน ลบ.ม.
ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างจนเต็มความจุภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งตามศักยภาพเดิมของเขื่อนสามารถระบายน้ำออกได้ไม่เกินวันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม.แต่ยืนยันไม่ได้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดอุทกภัย
นายเกรียงไกร การบริหารจัดการน้ำไม่ว่าจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง จะมีเกณฑ์กักเก็บน้ำอยู่แล้วโดยบังคับไม่ให้ต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้ ทั้งเรื่องอุทกภัยหรือภัยแล้ง
มวลน้ำที่ไหลทะลักเข้ามาเมื่อ 24 ก.ย.ทำให้ฝ่ายปกครองแจ้งเตือนให้ชาวบ้านพื้นที่ท้ายเขื่อนเก็บของขึ้นที่สูง ยอมรับว่ามีบางคนไม่เชื่อว่าน้ำจะมาเร็ว เพราะตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2514 และ 2553 ก็ไม่รุนแรงเท่านี้มาก่อน
นายชัยชนะ ตอนสันเทียะ ชาวตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า มีการแจ้งเตือนเมื่อเวลา 08.00 น. และอีกครั้งในเวลา 24.00 น.ว่า ให้รีบเก็บของขึ้นที่สูง แต่ตนเองอยู่ 2 คนกับภรรยาจึงสามารถเก็บของได้บางส่วนเท่านั้นเนื่องจากยกไม่ไหว โดยบางคนก็เชื่อการแจ้งเตือนขณะที่บางคนก็ไม่เชื่อเพราะไม่คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้ เพราะน้ำมาเร็วมาก ตนเองตื่นมาในเวลา 02.30 น.ออกมาดูน้ำจาะนั้นกลับเข้าไปบ้าน 5 นาที ต่อมาเวลา 02.35 น. น้ำมาเริ่มท่วมจึงปิดบ้านแล้วย้ายวัวออกเมื่อเวลา 02.40 น.
แม้ว่าวันนี้น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนลำเชียงไกรตอนล่างจะมีแนวโน้มลดลง แต่เจ้าหน้าที่ชลประทานก็ยังคงเร่งกู้เขื่อน ด้วยการเตรียมเสริมบิ๊กแบ็คและหินเกรเบี้ยนอุดจุดที่เจาะทำนบดิน คาดแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยเฉพาะ อ.พิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจุดสุดท้าย