ผมภาวนาขอให้มีปาฎิหาริย์พบพี่ชายกับพี่สะใภ้ อุบัติเหตุทางน้ำครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกกับชีวิตคนเรือ ของครอบครัวธารกูล มาตลอดการทำหน้าที่นายท้ายเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาของผม และพี่ชาย ที่เปรียบเสมือนครู
สมพร ธารกูล น้องชายของคนขับเรือ หนึ่งใน 2 ผู้สูญหายจากอุบัติเหตุเรือล่มที่หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟัง ขณะเฝ้าติดตามภารกิจค้นหาพี่ชาย ที่หายไปกับสายน้ำอย่างใจจดใจจ่อ
ย้อนเหตุการณ์ช่วงบ่ายวานนี้ (29 ก.ย.) สมพรอยู่ในเรือลากจูง 1 ใน 8 ลำ เขาอยู่ในตำแหน่งขวาสุดของเรือบรรทุกพ่วงสินค้า ส่วนเรือลำที่ล่มเป็นของพี่ชายและภรรยา อยู่ตำแหน่งซ้ายสุดของเรือ ขณะที่ด้านหน้าเรือพ่วงสินค้า มีเรือลากจูงอีก 5 ลำและปิดท้ายอีก 1 ลำที่ท้ายพ่วง
ก่อนเรือล่มเพียงไม่กี่นาที กำลังวิ่งผ่านหน้าวัดพนัญเชิง เรือของพี่ชายเสียหลักเข้าไปติดในกระแสน้ำวน ตอนนั้นน้ำแรงมาก ทำให้เรือเสียการทรงตัว พอเสียการทรงตัวก็บังคับไม่ได้ จะพุ่งเข้าชนเรือสินค้า แต่จู่ๆ ก็เอียงและล่มลงทันที
สมพร ยอมรับว่า จากประสบการณ์ที่เดินเรือมาทั้งชีวิต ครั้งนี้หนักที่สุด เพราะเรือที่ล่มเป็นเรือยนต์ลากจูงที่หนักมาก มีความยาว 18 เมตร กว้าง 5 เมตร สามารถออกทะเลได้เลย เพราะในอดีตหากเทียบเรือสินค้าที่เป็นเพียงเรือกระแชง มีเรือยนต์ไม้เล็กๆ ลากจูง แต่ยุคนี้เป็นเรือขนาด 2,000 ตันขึ้น เรียกว่า เรือลากจูงใหญ่กว่าสมัยก่อน 3-4 เท่า มีทั้งเรือไอ้โม่ง เรือยนต์ลูกเมล์ เรือสำปั้น
อ่านข่าวเพิ่ม ย้อนสถิติอุบัติเหตุเรือล่มเจ้าพระยา ลำน้ำเศรษฐกิจสำคัญอยุธยา
ชีวิตคนเรือกินนอนบนความเสี่ยง
สมพรเล่าถึงนาทีเรือล่มว่า ถ้าพี่สะใภ้วิ่งมาตัดตัดเชือกออกจากลากจูงทัน อาจจะปลอดภัย แต่ ณ วินาทีนั้นไม่มีใครคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เพราะที่บ้านทำงานลากจูงเรือมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่
พี่ชายเป็นนายท้ายรุ่นเก่าระดับฝีมือ เป็นคนสอนให้ผมขับเรือ เป็นครูที่ถ่ายทอดประสบการณ์เดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มาตลอด 40 ปี
สมพรบอกว่า ก่อนหน้าที่บ้านเคยมีเรือลากจูง และรับจ้างลากจูงเรือสินค้าเอง แต่ตอนหลังเข้ามาทำงานกับบริษัท ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือ คอยรับพ่วงสินค้าจากพระประแดง กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นมาสายเหนือสิ้นสุดที่อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ละสัปดาห์ต้องใช้เวลากินนอนบนเรือลากจูงอย่างน้อยวันครึ่งหรือราว 28-30 ชั่วโมงต่อเที่ยว
ถ้าน้ำขึ้นจะใช้เวลาเดินทางสักวันครึ่ง จากพระประแดงมาถึงอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางราว 80-90 กม. ใช้ความเร็ว 2-3 ไมล์ เพราะคนเรือต้องมีความแม่นยำในการคำนวณกระแสน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อเรือลากจูงและเรือสินค้า
สะพานกทม.ทุกแห่ง-วัดพนัญเชิง จุดเสี่ยงคนเดินเรือ
เมื่อถามว่า แม่น้ำเจ้าพระยาจุดไหนเสี่ยงที่สุด สมพร ตอบทันทีว่า ถ้านับตั้งแต่พระประแดง ขึ้นมาจนถึงพระนครศรีอยุธยา ต้องอาศัยประสบการณ์เฉพาะของนายท้ายเรือ เพราะปัจจัยหลักแม่น้ำเจ้าพระยากระแสน้ำแรง ถ้าพลาดนิดเดียวจะแก้ไขไม่ได้ แม่น้ำแต่ละเส้น จึงต้องมีนายท้ายเรือที่รู้จักเส้นทางของตัวเองเป็นอย่างดี
จุดวัดพนัญเชิง เป็นจุดอันตรายที่สุด ความลึก 14-20 เมตร โดยเฉพาะช่วงน้ำหลาก จะอันตรายกว่าร้อยเท่า เพราะเป็นจุดที่เจ้าพระยากับป่าสักมาบรรจบกัน เหมือนเป็นสามแยกน้ำหมุน เป็นแอ่งกระทะ น้ำจะไหลวนและแรง
ส่วนตลอดเส้นทางที่จากกทม.ขึ้นมา สมพรยอมรับว่า ต้องลุ้นตั้งแต่สะพานกรุงเทพ นนทบุรี สาธร สะพานพุทธ สะพานพระปกเกล้า สะพานพระราม 8 สามเสน สะพานพระราม 7 สะพานพระนั่งเกล้า จนเข้าเขตปทุมธานี สะพานรังสิต สะพานปทุมธานี สะพานเชียงราก จนมาถึงวัดไก่เตี้ย และสามแยกวัดพนัญเชิง ทุกครั้งต้องไม่ประมาท และต้องกล้าตัดสินใจในเหตุเผชิญหน้าทันที
เขาบอกว่า กระแสน้ำไหลขึ้นก็บังคับเรือลำบาก ไหลลงก็ลำบาก ต้องคำนวณให้มาถึงตรงนี้ แบบเป๊ะๆ เพราะถ้าน้ำมา จังหวะเรือที่เราลากจูงออกเส้นทางที่กำหนด อาจจะหลงไปในน้ำวน ถ้าหลุดไปต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าให้ได้
ประสบการณ์ และการทำหน้าที่ของเรือลากจูงทุกลำ และคนขับเรือสินค้า ต้องทำหน้าที่ประสานกันเป็นอย่างดี เพราะถ้าพลาดนิดเดียวจะแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นแม่น้ำแต่ละสายจึงต้องมีนายท้ายเรือ ที่รู้จักเส้นทางของตัวเองเป็นอย่างดี
วอนอย่าคอมเมนต์ให้ร้ายคนเรือ
ส่วนมยุรา ภรรยาของสมพร บอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เรายึดอาชีพนี้มาค่อนชีวิตพี่ชายของแฟน เป็นนายท้ายรุ่นบุกเบิก ไม่มีวันไหนที่จะประมาท เพราะความรับผิดชอบ เป็นหัวใจที่จะทำให้การเดินทางราบรื่น ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพี่เขย มีการคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียในทางไม่ดี เช่น ไม่มีประสบการณ์ เล่นยา น้ำแรงทำไมยังไป ฟังแล้วรู้สึกเสียใจ
ชีวิตคนเรือ ตั้งแต่รับเรือสินค้าจากทะเลแถวพระประแดง ต้องเตรียมพร้อม หัวใจอยู่กับเรา กว่าจะผ่านสะพานกรุงเทพ ในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำแรงแค่ไหนต้องบังคับเรือให้ลอดสะพาน ไม่ให้เรือชนสะพานจนกระทั่งถึงปลายทาง ส่งสินค้าปลอดภัย
ซึ่งคนเรือลากจูงส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ทั้งสามี-ภรรยา บางจุดภรรยา ก็อาจจะสลับมาเป็นนายท้ายเรือให้สามี ได้นอนพักสัก 1-2 ชั่วโมง
ขณะที่สมพร บอกอีกว่า หลังจากเจ้าหน้าที่พบพิกัดจุดเรือจมที่ด้านล่างแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว และกำลังวางแผนลงไปค้นหา เชื่อว่าถ้าพี่ชายหนีออกไม่ทันอาจติดอยู่ใต้ซากเรือยนต์ที่จม ส่วนภรรยาอาจจะลอยออกจากเรือไปแล้ว
เท่าที่ทราบต้องค้นหาทั้ง 2 คนให้เจอก่อน ส่วนการกู้เรือน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะจุดนี้น้ำลึก 20 เมตรเป็นแอ่งกระทะ และกระแสน้ำวนมาก ค่อนข้างยากลำบาก และเรือยนต์มีขนาดใหญ่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดภาพเรือล่มสามแยกวัดพนัญเชิงฯ 5 ชม.ยังไม่พบผู้สูญหาย
พบแล้ว ! พิกัดเรือล่ม หน้าวัดพนัญเชิงฯ นักประดาน้ำเร่งสำรวจ
เรือล่มสามแยกวัดพนัญเชิงฯ อยุธยา เร่งค้นหาผู้สูญหาย 2 คน