นับตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 ถึงวันนี้ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมแล้วกว่า 15,000 คน มีรายงานว่าเด็กเกือบ 400 คนเป็นลูกของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ พวกเขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าเฉียบพลัน หนึ่งในนั้น คือ เด็กหญิงวัยแรกเกิดที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่สูญเสียแม่ไปเพราะโควิด-19 ตั้งแต่ลืมตาดูโลกได้เพียง 1 สัปดาห์
แม่ของเด็กติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะอายุครรภ์ได้ 7 เดือน นายจตุพร คลังภักดี สามีของผู้เสียชีวิตและพ่อของเด็ก เล่าว่า ภรรยาตัดสินใจไม่รับวัคซีนเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับลูกในท้อง
หลังจาก ติดเชื้อโควิด-19 และ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่กี่วันอาการของเธอทรุดลง แพทย์จึงตัดสินใจผ่าตัดทำคลอดก่อนกำหนดขณะอายุครรภ์ได้เพียง 7 เดือน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตแม่ไว้ได้
แพทย์ปรึกษากันว่าต้องเอาเด็กออกก่อนเพื่อยื้อชีวิตไว้อย่างน้อยหนึ่งชีวิต คุณหมอบอกว่าต้องเอาลูกออกมาเพื่อจะได้ให้ยารักษาคุณแม่ได้เต็มที่ ผมก็บอกว่าถ้าอย่างงั้นก็โอเคครับ แต่ตอนหลังคุณหมอก็บอกว่าคุณแม่ไม่น่าจะรอด
โควิด-19 ทำให้แม่ของเด็กเสียชีวิต หลังคลอดลูกสาวได้เพียง 1 สัปดาห์ ขณะที่ ลูกสาวของเธอสุขภาพสมบูรณ์ดีและได้กลับบ้านแล้ว หลังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์มานานกว่า 1 เดือน
น.ส.กำไล คงวัน ป้าของเด็กรับหน้าที่ดูแลต่อ เธอกลายเป็นคุณแม่มือใหม่โดยไม่ทันตั้งตัว และ ต้องเข้ารับการอบรมการเลี้ยงเด็กแรกเกิดที่โรงพยาบาล
ครอบครัวนี้ยังมียายของเด็กหญิงที่มีประสบการณ์เลี้ยงเด็กมาก่อน การหาคนดูแลเด็กวัยแรกเกิดจึงไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ทุกคนมีความกังวลคือ รายได้ที่จะนำมาเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในบ้าน เพราะนอกจากเด็กหญิงแรกเกิดแล้ว ในบ้านหลังเดียวกันยังมีเด็กหญิงอายุ 9 ปี ทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน และ จำเป็นต้องได้รับการดูแลแทนแม่ที่จากไป
พ่อของเด็กหญิงเปิดร้านสักลายที่กรุงเทพฯ ร้านของเขาถูกสั่งปิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามมาตรการป้องกันโรค รายได้ครอบครัวในช่วงที่ผ่านมาจึงมาจากการทำงานรับจ้างของภรรยาเป็นหลัก เมื่อภรรยาจากไปครอบครัวนี้จึงไม่มีรายได้มานานกว่า 2 เดือนแล้ว
สุภัชชา สุทธิผล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ระบุว่า จากการสำรวจพบว่าตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2564 ประเทศไทยมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 รวมกันกว่า 140,000 คน มีเด็กกำพร้าที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รวม 369 คน แบ่งเป็นกำพร้าพ่อ 180 คน กำพร้าแม่ 151 คน กำพร้าทั้งพ่อและแม่ 3 คน อีก 35 คนผู้ดูแลหรือผู้ปกครองเสียชีวิต
สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากเด็กสูญเสียบุคคลสำคัญ คือ สภาพจิตใจที่อาจเกิดความวิตกกังวล นอกจากนี้ ปัญหาจากการขาดรายได้ของผู้ปกครองก็อาจซ้ำเติมให้เกิดความเครียดทั้งต่อเด็กและผู้ดูแลมากยิ่งขึ้น
กรมกิจการเด็กฯ ต้องเข้าไปดูแล เพราะเด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางจิตใจ อาจเครียดจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทางกรมสุขภาพจิตจะมาร่วมกับเรา เด็กอาจวิตกกังวลว่าต่อไปนี้จะอยู่กับใคร จะได้เรียนต่อไหม อันนี้เป็นความวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กกำพร้า
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือนั้น อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนระบุว่า จะให้ครอบครัวของเด็กดูแลเป็นหลัก โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จะสำรวจและสนับสนุนในสิ่งที่แต่ละครอบครัวขาด เช่น นมผง ผ้าอ้อม เป็นต้น
หากเด็กไม่มีครอบครัวจะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้ โดยจะดูจากความพร้อมของครอบครัวอุปถัมภ์ หากไม่สามารถหาครอบครัวให้ได้ การรับเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ของรัฐจะเป็นทางออกสุดท้าย